posttoday

ใกล้หมดยุครถยนต์สันดาป ? หลังจีนทำลายสถิติ ยอดขายรถ EV พุ่งเกิน 50%

24 เมษายน 2567

รายงานการวิเคราะห์ตลาดรถยนต์ของจีนระบุว่า ช่วงวระหว่างวันที่ 1-14 เมษายน 2024 ยอดขาย EV ในจีน มีสัดส่วนมากกว่า 50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในประเทศจีน ทำลายสถิติเร็วกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ตัวเลขนี้ไว้ถึง 4 ปี ชี้ชัดว่าปัจจุบันรถ EV นิยมใช้ในจีนมาก

sohu สื่อของจีนเผยตัวเลขยอดขายรถ EV ในจีนที่มีมากกว่า 50% นี่คือครั้งแรกที่ตัวเลขมากเกินครึ่งของคนใช้รถยนต์จากทั้งประเทศ 

สำหรับความหมายของ EV ในจีน หมายถึง รถ NEV (New Energy Vehicles - รถยนต์พลังงานใหม่)  ซึ่งจะรวมถึง EV ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ (BEV), รถปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle - PHEV) และรถประเภท Extended-Range EV (EREV)

ทั้งนี้จากยอดขายรถยนต์ในจีนมีทั้งหมด 516,000 คัน ระหว่างต้นเดือน เมษายน ถึงกลางเดือนเมษายน 2024 ยอดขายรถ NEV คิดเป็น 260,000 คัน เพิ่มขึ้น 32% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบเดือนต่อเดือน 
 

ใกล้หมดยุครถยนต์สันดาป ? หลังจีนทำลายสถิติ ยอดขายรถ EV พุ่งเกิน 50%

ขณะที่ภาพรวมของยอดขายรถยนต์โดยรวมในจีนในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน มียอดขายลดลง ซึ่งหมายความว่ายอดขายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE - Internal Combustion Engine) ตกอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์โดยรวมลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (2566)

ส่วนในช่วง 2 สัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2024 ยังเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้นก่อนจะประเมินว่าตัวเลขของการซื้อรถ EV จะสะท้อนภาพรวมใหญ่ของการซื้อทั้งปี 

จากนี้ต้องติดตามดูว่า รถ NEV จะสามารถรักษาการเติบโตได้นานแค่ไหน สหพันธ์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลแห่งประเทศจีน (Chinese Federation of Passenger Cars) คาดการณ์ว่า อัตราการใช้รถ NEV ของประชากรจีน (Penetration Rate) ในปีนี้จะอยู่ที่ 40% แต่ก็อาจจะประเมินความเร็วของการเปลี่ยนแปลงต่ำไป

ใกล้หมดยุครถยนต์สันดาป ? หลังจีนทำลายสถิติ ยอดขายรถ EV พุ่งเกิน 50%

สำหรับยอดขายรถยนต์ ICE (เครื่องยนต์สันดาปภายใน) ที่ลดลง เมื่อแยกออกเป็นแบรนด์ต่าง ๆ จะเป็นดังนี้ SAIC GM ลดลง 14.5%, GAC Honda ลดลง 13.7% SAIC Volkswagen ลดลง 8% และแม้แต่รถยนต์สันดาปที่ขายดีที่สุดในเดือนมีนาคมอย่าง Toyota Camry และ VW Lavida ยอดขายก็ลดลงมากถึง 59.2% และ 36.4% ตามลำดับ
 

เปิดตัวเลขติดตั้งโรงงานผลิต EV ในไทย

ทีนี้กลับมาดูที่ประเทศไทยบ้างแม้เราจะยังไม่มีแบรนด์รถ EV ของไทย แต่เราคือหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่หลายบริษัทยักษ์ใหญ่จากจีน รวมถึงอีกหลายที่ทั่วโลกสนใจมาลงทุนตั้งโรงงานเพื่อผลิตรถยนต์ EV

ปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ EV มากกว่า 30 บริษัท ทั้งในรายที่เข้ามาลงทุนแล้ว กำลังเตรียมตัวเข้ามาลงทุน และอยู่ระหว่างการชักจูงเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ ดังนี้

ใกล้หมดยุครถยนต์สันดาป ? หลังจีนทำลายสถิติ ยอดขายรถ EV พุ่งเกิน 50%

ค่ายรถยนต์ EV จีน

บริษัทเป้าหมาย/อยู่ระหว่างการหารือ : Xiaomi และกำลังหารืออีก 2 บริษัท 
จัดตั้งสำนักงานขาย/ทำตลาดในไทยแล้ว : Chery, X-Peng, Geely, Wuling, Nolt
ยื่นคำขอ BOI และอนุมัติโครงการแล้ว :BYD, Aion, Changan, MG, Foton
เริ่มผลิต BEV แล้ว : GWM, Neta

ค่ายรถยนต์ EV ญี่ปุ่น
ยื่นคำขอ BOI และอนุมัติโครงการแล้ว : Mitsubishi, Isuzu, Nissan
เริ่มผลิต BEV แล้ว : Toyota, Honda, Fomm, Takano

ค่ายรถยนต์ EV ประเทศอื่น ๆ
บริษัทเป้าหมาย/อยู่ระหว่างการหารือ : Volkswagen, Stellantis และกำลังหารืออีก 2 บริษัท 
จัดตั้งสำนักงานขาย/ทำตลาดในไทยแล้ว : BMW, Tesla, Vinfast, Hyundai, Kia
ยื่นคำขอ BOI และอนุมัติโครงการแล้ว : Horizon Plus
เริ่มผลิต BEV แล้ว : Mercedes-Benz, MINE Mobility

ด้านนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า ผลจากการเดินทางดึงดดูดการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้บริษัทผู้ผลิตจากจีนหลายรายในระดับท็อป 10 ของโลก เช่น BYD, Aion, Changan, GWM, MG เลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออก

ซึ่งจากการเจรจาครั้งสำคัญเมื่อปีที่แล้ว (2566) ที่กรุงโตเกียว ทำให้ 4 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นชั้นนำ มีแผนการขยายการลงทุนรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาทภายใน 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงโอกาสสำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในการปรับตัวไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการรักษาธุรกิจ ICE ในปัจจุบัน ขณะที่รัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจากับผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากยุโรปและอเมริกาอย่างต่อเนื่อง

และจากการประเมินของ บีโอไอ  คาดว่าจะเกิดขึ้นจากกิจกรรม Roadshow และมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล จาก 4 อุตสาหกรรมหลัก รวมแล้วประมาณ 558,000 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมดิจิทัล 250,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรม EV และชิ้นส่วน 210,000 ล้านบาท, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมีคอนดักเตอร์ 95,000 ล้านบาท และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น โลจิสติกส์ 3,000 ล้านบาท