posttoday

เทคโนโลยีเพาะเมฆ - Cloud Seeding สุดล้ำของดูไบ เป็นสาเหตุของน้ำท่วมจริงไหม?

18 เมษายน 2567

น้ำท่วม “ดูไบ“ เป็นคลองหลังฝนตกหนักสุดในรอบ 75 ปี มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศว่า ปริมาณฝนที่มากผิดปกตินี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเพาะเมฆ หรือ Cloud Seeding ที่ UAE ดำเนินการต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว จริงไหม?

KEY

POINTS

  • น้ำท่วมหนัก"ดูไบ" เมืองกลางทะเลทรายของ UAE เกิดจากภาวะโลกร้อน โลกรวน หรือ เกิดจากการเพาะเมฆสร้างฝนเทียมที่ควบคุมได้ยาก
  • เทคโนโลยีเพาะเมฆบนฟ้า หรือ Cloud Seeding จากการยิงประจุเกลือดูดความชื้น ทำงานอย่างไร ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมจริงหรือไม่
  • สื่อของรัฐบาล UAE ระบุว่า นี่คือฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 75 ปี และเรียกว่าเป็น “เหตุการณ์พิเศษ” จากปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติ

เหตุการณ์พายุถล่มดูไบจนน้ำท่วมเมืองในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ว่ากันว่าปริมาณน้ำฝนที่ตกใน 24 ชั่วโมงนั้นมากกว่าปริมาณน้ำฝนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก หลายฝ่ายต่างมองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศ มีทั้งที่บอกว่า เหตุการณ์อันผิดปกตินี้ เกิดจากภาวะโลกร้อน โลกรวน และมีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศว่า ปริมาณฝนที่มากผิดปกตินี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับ กระบวนการเพาะเมฆ หรือ Cloud Seeding ที่ UAE ดำเนินการต่อเนื่องมานานหลายปีแล้วด้วย จริงไหม?

 

สื่อของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่า นี่เป็นฝนตกหนักที่สุดในรอบ 75 ปี และเรียกว่าเป็น “เหตุการณ์พิเศษ” จากปริมาณน้ำที่มากกว่าปกติ หรือเทียบกับปริมาณน้ำในหนึ่งปีที่ถูกปล่อยลงมาในประเทศภายในวันเดียว ถึงตอนนี้หลายๆ คนต่างชี้นิ้วโทษไปที่ปฏิบัติการ “การเพาะเมฆ” ก่อนเกิดฝนตก

 

“คุณคิดว่าน้ำท่วมในดูไบอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่” บัญชีโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่าง Wide Awake Media ตั้งคำถาม พร้อมด้วยคลิปรายงานข่าวโครงการปรับเปลี่ยนสภาพอากาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

เทคโนโลยีเพาะเมฆ - Cloud Seeding สุดล้ำของดูไบ เป็นสาเหตุของน้ำท่วมจริงไหม?

 

การปลูกเมฆ เพาะเมฆ หรือ การทำฝนเทียมในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

เป็นเทคโนโลยีหนึ่งในการปรับเปลี่ยนสภาพอากาศที่รัฐบาล UAE ใช้เพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำในประเทศ เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 80 กว่าปีก่อน

 

เจฟฟ์ มาสเตอร์ส นักอุตุนิยมวิทยาของ Yale Climate Connections กล่าวว่า น้ำท่วมในดูไบเกิดจากระบบความกดอากาศต่ำที่รุนแรงผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองหนักหลายรอบ ไม่เกี่ยวกับ Cloud Seeding แต่อย่างใด ส่วนผู้เชี่ยวชาญอีกคนคือ Steven Siems จากมหาวิทยาลัย Monash ในออสเตรเลียก็เห็นด้วย เขาบอกว่า

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปเป็นสาเหตุของพายุ ความแห้งแล้ง น้ำท่วม และไฟป่าที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นทั่วโลก เขาเห็นว่า จากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นและผลกระทบอื่น ๆ ของภาวะโลกร้อนล้วนถูกมองว่า เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตในภูมิภาคที่ร้อนอบอ้าวอยู่แล้ว

 

ดูไบ นครที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพื้นที่ 80% ของประเทศคือทะเลทราย เพิ่งเป็นเจ้าภาพการเจรจาว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ COP28 ของสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้ว เริ่มมีฝนตกในช่วงดึกของวันจันทร์ (15 เมษายน) ส่งผลให้ผืนทรายและถนนในดูไบชุ่มฉ่ำไปด้วยปริมาณฝนประมาณ 20 มิลลิเมตร (0.79 นิ้ว) ตามข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาที่รวบรวมได้ที่สนามบินนานาชาติดูไบ แต่แล้วพายุกลับทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 9.00 น. ของวันอังคาร (16 เมษายน) และต่อเนื่องตลอดทั้งวัน เกิดฝนตกและลูกเห็บถล่มเข้าใส่เมืองจนเกิดน้ำท่วมอย่างหนัก ด้วยปริมาณน้ำฝนมากกว่า 142 มิลลิเมตร (5.59 นิ้ว) กระหน่ำดูไบตลอด 24 ชั่วโมง

 

เทคโนโลยีเพาะเมฆ - Cloud Seeding สุดล้ำของดูไบ เป็นสาเหตุของน้ำท่วมจริงไหม?

 

ที่มาที่ไปของการเพาะเมฆ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซียที่ใช้เทคโนโลยีการเพาะเมฆเพื่อเสริมความไม่มั่นคงทางน้ำของประเทศ จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด มีการใช้เรดาร์ตรวจอากาศเพื่อติดตามสภาพบรรยากาศของประเทศอย่างต่อเนื่อง นักพยากรณ์และนักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการว่า การสร้างเมฆสามารถเพิ่มปริมาณน้ำฝนได้มากถึง 30-35% ในบรรยากาศปลอดโปร่ง และมากถึง 10-15% ในบรรยากาศที่มีความชื้นมากขึ้น แต่แนวทางนี้ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นการยากที่จะคาดการณ์ผลกระทบทั่วโลกในระยะยาว

 

โดยปกติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีสภาพอากาศที่แห้งแล้ง มีปริมาณน้ำฝนน้อยกว่า 100 มิลลิเมตรต่อปีแต่จากตัวเลขปริมาณฝนล่าสุด พบว่าปริมาณฝนตกในช่วง 24 ชั่วโมง หรือ 1 วันที่ผ่านมามีปริมาณมากกว่าฝนที่ตกในพื้นที่ตลอดช่วง 2 ปีผ่านมาเสียอีก มันเกิดอะไรขึ้น?

 

ปริมาณน้ำฝนใน UAE มีความผันผวนในช่วงสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม สภาพภูมิอากาศจะแห้งมาก ยกเว้นตามชายฝั่งและชายแดนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และโอมานจะมีความชื้นสูง

 

การไม่มีปริมาณน้ำฝนมากพอทำให้นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางน้ำในอนาคต เนื่องจากการพัฒนาทางอุตสาหกรรมและการเติบโตของประชากร ความต้องการน้ำจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทรัพยากรในปัจจุบันกำลังหมดลงและปัญหาการขาดแคลนก็เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จึงมองหาเทคโนโลยีการเพาะเมฆฝนเพื่อสร้างความมั่นคงทางน้ำ ตลอดจนความสามารถในการหมุนเวียนเพื่อต่อสู้กับการขาดแคลนน้ำและอาหารที่อาจเกิดขึ้น

 

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองใช้เทคโนโลยีการเพาะเมฆมาตั้งแต่ปี 1940 ต่อมาเกิดมีโครงการเพาะเมฆเริ่มขึ้นในช่วงปลายทศวรรษ 1990 UAE เป็นหนึ่งในประเทศตะวันออกกลางกลุ่มแรกๆ ที่ใช้เทคนิคนี้ ในปี พ.ศ. 2548 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เปิดตัวรางวัล UAE Prize for Excellence in Advancing the Science and Practice of Weather Modification ด้วยความร่วมมือกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) 

 

ในปี พ.ศ. 2553 การเพาะเมฆเริ่มต้นโดยหน่วยงานสภาพอากาศเพื่อสร้างฝนเทียมใช้งบประมาณ 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ประสบความสำเร็จในการสร้างพายุฝนในทะเลทรายดูไบและอาบูดาบี รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้พัฒนาโครงการวิจัยที่เรียกว่า “โครงการวิจัยวิทยาศาสตร์การเพิ่มปริมาณน้ำฝนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAEREP)” ในปี 2558 ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยเสนอวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และดำเนินการวิจัยเพื่อปรับปรุงความแม่นยำของเทคโนโลยีการเพาะเมฆ หลังจากยื่นข้อเสนองานวิจัย นักวิทยาศาสตร์จะได้รับทุนสนับสนุนผ่าน UAEREP เป้าหมายหลักประการหนึ่งคือ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการดำเนินการเพิ่มปริมาณน้ำฝน

 

มีการร่วมมือกับศูนย์วิจัยบรรยากาศแห่งชาติ (NCAR) ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัย Witwatersrand ในแอฟริกาใต้ และองค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) ในสหรัฐอเมริกา ต่อมาในปี 2020 ได้ร่วมกับพันธมิตรในสหรัฐอเมริกาทดสอบการใช้วัสดุนาโนในการเพาะเมฆ

 

Beechcraft King Air C90 ใช้สำหรับการหยอดเมฆ (เครดิตภาพ Wikipedia.org)


รู้จักเทคโนโลยีเพาะเมฆ สร้างฝนเทียม

การเพิ่มปริมาณน้ำฝนของ UAE มีกระบวนการทั้งทางภาคพื้นดินและทางอากาศที่เกิดขึ้นในเมฆฝนประเภทต่างๆ (แต่โดยทั่วไปจะมุ่งไปที่เมฆหมุนเวียนที่มีอยู่ตามธรรมชาติก่อน) UAE ใช้การหยอดเมฆดูดความชื้นในอากาศทั้งด้วยเครื่องบินและควบคุมด้วยโดรน 

 

ตั้งแต่ปี 2021 มีการติดตั้งอุปกรณ์ปล่อยประจุไฟฟ้าจำนวนมากและเซ็นเซอร์ที่บินในระดับความสูงต่ำและส่งประจุไฟฟ้าไปยังโมเลกุลของอากาศ การเพาะเมฆแบบดูดความชื้นนี้มีการใช้เกลือธรรมชาติ เช่น โพแทสเซียมคลอไรด์และโซเดียมคลอไรด์ที่มีอยู่แล้วในชั้นบรรยากาศพร้อมกับแฟลร์ดูดความชื้น ไปช่วยเพิ่มอนุภาคฝนตามธรรมชาติ (ปัจจุบันเมฆส่วนใหญ่เป็นเมฆบนภูเขาทางตะวันออกบริเวณชายแดนติดกับโอมาน) เพื่อเพิ่มระดับในชั้นหินอุ้มน้ำและอ่างเก็บน้ำ

 

UAE มีสถานีตรวจสภาพอากาศอัตโนมัติในเครือข่าย 75 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 7 แห่ง เครือข่ายเรดาร์ตรวจอากาศแบบดอปเปลอร์ 5 เแห่ง และเรดาร์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และเครื่องบิน Beechcraft King Air C90 จำนวน 6 ลำที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อปฏิบัติการสร้างเมฆ

 

ปัจจัยน้ำท่วม

ก่อนนี้ปริมาณน้ำฝนที่มาจากการเพาะเมฆส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐาน UAE ที่ยังไม่มีอุปกรณ์พร้อมรับมือ เนื่องจากระบบระบายน้ำไม่สามารถจัดการกับปริมาณน้ำได้

 

การทดลองเพาะเมฆในเดือนตุลาคม 2019 โดยศูนย์อุตุนิยมวิทยาและแผ่นดินไหวแห่งชาติของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อเพิ่มปริมาณฝนเคยส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในปี 2020 ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เชิงพาณิชย์และที่อยู่อาศัย

 

ถนนที่ถูกน้ำท่วมในดูไบในช่วงที่ฝนตกจากการเพาะเมฆ (เครดิตภาพ: Wikipedia.org)


คาดกันว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะลงทุนอีกราว 500 ล้านเดอร์แฮม (136.1 ล้านดอลลาร์) เพื่อป้องกันน้ำท่วมโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมขนส่งหลังเกิดพายุรุนแรง

 

ละอองลอยในบรรยากาศ

ภารกิจการเพาะเมฆจำเป็นต้องยิงเกลือและผลึกซิลเวอร์ไอโอไดด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลต่อความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองหรือมลพิษขนาดเล็ก เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ ในปี 2560 มีการศึกษาก่อนและหลังภารกิจการเพาะเมฆ ซึ่งบันทึกการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง สัมพันธ์กับเดือนที่มีการใช้งานฝนเทียม

 

นักวิจัยเชื่อว่า สิ่งนี้เกิดจากผลึกเงินไอโอดีนที่เหลือซึ่งไม่ได้กระจายตัวท่ามกลางสายฝนในช่วงเดือนที่เมฆเริ่มก่อตัว การศึกษาได้ดำเนินการที่เรียกว่า UAE Unified Aerosol Experiment (UAE2) เพื่อประเมินความคืบหน้าและประสิทธิผลของการเพาะเมฆโดยเฉพาะในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

นักวิจัยพบว่า แนวโน้มปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ที่มีเมฆปกคลุม เมื่อเร็วๆ นี้ กว่า 20 ภูมิภาคในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เข้าร่วมการทดลองการเพาะเมฆมีความเข้มข้นของอนุภาคที่สูงกว่าพื้นที่อื่น ส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของ Cloud Seeding ยังเป็นเรื่องที่วัดได้ยาก เนื่องจาก (ยัง) ไม่สามารถควบคุมการทดลองได้ ควบคู่ไปกับความยากลำบากในการติดตามโดยตรง

 

Maarten Ambaum ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์และพลศาสตร์บรรยากาศที่มหาวิทยาลัย Reading แห่งสหราชอาณาจักร กล่าวว่า เขาได้พูดคุยกับนักอุตุนิยมวิทยาที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (NCM) ซึ่งปฏิเสธว่าไม่ได้เกิดการก่อตัวของเมฆ “การปลูกเมฆในเอมิเรตส์นั้นใช้กับเมฆที่ปกติที่ไม่ก่อให้เกิดฝน … ปกติแล้วจะไม่เกิดพายุรุนแรงมากนัก”