posttoday

ในหลวง พระราชินี เสด็จงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี2567

10 พฤษภาคม 2567

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี 2567 พระยาแรกนาเสี่ยงทายผ้าได้5คืบ น้ำพอดีข้าวในนาบริบูรณ์ พระโคกินน้ำ-หญ้า-เหล้า ค้าขายดีเศรษฐกิจรุ่งเรือง

เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ไปยังพลับพลาที่ประทับ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง เพื่อเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2567 
 

สำหรับฤกษ์ดีในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปีพุทธศักราช 2567 อยู่ระหว่างเวลา 08.09 - 08.39 น. โดยมีนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่พระยาแรกนา พร้อมเทพีทั้งหาบทอง และหาบเงิน

พระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ คือ พระโคพอ มีความสูง 165 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 226 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 214 เซนติเมตร อายุ 12 ปีและ พระโคเพียง มีความสูง 169 เซนติเมตร ความยาวลำตัว 239 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอก 210 เซนติเมตร อายุ 12 ปี

  ในหลวง พระราชินี เสด็จงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี2567

บุพพัณณปรัณณชาติ เมล็ดพืชพันธุ์ธัญญาหารต่าง ๆ รวม  40 อย่าง บรรจุถุงผ้าขาว และแยกข้าวเปลือกที่หว่านในพิธีบรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง

สำหรับช่วงแรก พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงทายผ้านุ่ง แต่งกาย ปรากฎว่าได้ผ้า 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี

 

ส่วนช่วงที่สอง ภายหลังหลังจากการไถหว่านซึ่งจะเป็นการไถดะไปโดยรี 3 รอบ เพื่อพลิกดินให้เป็นก้อน ไถโดยขวาง 3 รอบ เพื่อย่อยดินให้ละเอียดพร้อมหว่านเมล็ดพันธุ์พืช และไถกลบอีก 3 รอบ เพื่อกลบเมล็ดพันธุ์พืชลงในดิน

ในหลวง พระราชินี เสด็จงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญปี2567

เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการไถเป็นการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่งตั้งเลี้ยงพระโค ปรากฎว่า พระโค กินน้ำ-หญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ พระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมจะสะดวกขึ้น การค้าขาย กับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

 

เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 16 ราย คือ

1. อาชีพทำนา ได้แก่ นางทองเม็ด พรมพิทักษ์ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์

2. อาชีพทำสวน ได้แก่ นายประดับ ปิ่นนาค อ.เมืองอุตรดิตถ์ จ.อุตรดิตถ์

3.อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายสุริยา ห่วงถวิล อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี

4. อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางอัญชัน สุขจันทร์ อ.สังขะ จ.สุรินทร์

5. อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นายพินิจ แก้วพิมาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ

6. อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายสัมฤทธิ์ อินทร์เฉลียว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี

7. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายสุชาติ ปิยะศิรินนท์ อ.ดอนตูม จ.นครปฐม

8. อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายณัฏฐชัย นาคเกษม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช

9. อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายธีรุตม์ อนวัชศิริวงศ์ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา

10.อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสุมิตร ศรีวิสุทธิ์ อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีธรรมราช

11.สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นางอวยพร ราชเล็ก อ.กงหรา จ.พัทลุง

12. สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายสนิท ดำบรรณ์ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี

13. สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายแล โพธิ์วัด อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร

14.สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ เรืออากาศตรีบัญชา เพ็ชรรักษ์ อ.เมืองสิงห์บุรี จ.สิงห์บุรี

15. ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นายนพธิไกร จอมภาปิน อ.ลอง จ.แพร่

16. สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ เด็กหญิงรัตนกานต์ นวลจันทร์ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 12 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มเกษตรกรทำนา ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านตอนิมิตร อ.สูงเม่น จ.แพร่

2. กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางพาราบ้านคำข่า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

3. กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรโคเนื้อไทย เขาชัยสน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง

4. กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มประมงพื้นบ้านไหนหนัง อ.เมืองกระบี่ จ.กระบี่

5. กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งรวงทอง อ.ปะเหลียน จ.ตรัง

6. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทอผ้าพุเตย อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

7. กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านเหล่า (รัฐราษฎร์บำรุง) อ.ลอง จ.แพร่

8. กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสามัคคีพันธุ์ข้าว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

9. สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานม่วงเตี้ย อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี

10. ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน อ.เถิน จ.ลำปาง

11. ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภทข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านโพธิ์เจริญ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท

12. วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์จังหวัดอำนาจเจริญ อ.เมืองอำนาจเจริญ จ.อำนาจเจริญ 

สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 จำนวน 7 สหกรณ์ คือ

1.สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เชียงใหม่ - ลำพูน จำกัด อ.หางดง จ.เชียงใหม่

2. สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมท่าหลวง จำกัด ที่ทำการสหกรณ์ อ.ท่าหลวง จ.ลพบุรี

3.สหกรณ์ผู้ผลิตยางพารา ได้แก่ สหกรณ์กองทุนสวนยางเอราวัณพัฒนา จำกัด อ.เอราวัณ จ.เลย

4. สหกรณ์ผู้ใช้น้ำ ได้แก่ สหกรณ์ผู้ใช้น้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านท้ายวัดพญาปันแดน จำกัด อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์

5. สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขลำพูน จำกัด อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน

6.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคุรุสภาอำเภอเมืองเชียงใหม่ จำกัด อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

7. สหกรณ์ร้านค้า ได้แก่ ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จำกัด อ.เมืองนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช

ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2567 จำนวน 3 สาขา คือ

1. สาขาปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายวินิจ ถิตย์ผาด อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์

2. สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายพิบูลย์ชัย ชวนชื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร

3. สาขาปราชญ์เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย ได้แก่ นายอัษฏางค์ สีหาราช อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์