posttoday

ผังเมือง - เรื่องชาวบ้าน

13 กันยายน 2560

ในอดีตที่ผ่านมา ผังเมืองในแต่ละจังหวัด อาจไม่ได้ประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัด หลายจังหวัดจะมีการประกาศใช้ผังเมืองรวมเฉพาะในเขตอำเภอเมือง

 

โดย...อิสระ บุญยัง นายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร

ในอดีตที่ผ่านมา ผังเมืองในแต่ละจังหวัด อาจไม่ได้ประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัด หลายจังหวัดจะมีการประกาศใช้ผังเมืองรวมเฉพาะในเขตอำเภอเมือง การประกาศใช้ผังเมืองจึงมีผลกระทบเฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น เมื่อมีการประกาศใช้ผังเมืองก็จะมีข้อร้องเรียนตามมา คือ มีที่ดินอยู่ แต่ไม่สามารถสร้างหอพักหรือห้องแถวให้เช่าได้ เพราะผังเมืองมีข้อกำหนดห้ามสร้างอาคารอยู่อาศัยรวม ห้ามสร้างห้องแถวหรือตึกแถวในบริเวณดังกล่าว หรือสำหรับผู้ประกอบธุรกิจก็จะทราบว่าการทำอาคารชุด หรือโครงการจัดสรรบางประเภทจะทำในพื้นที่สีเขียวไม่ได้ เป็นต้น

ที่ผ่านมา ผังเมืองรวมจะมีอายุ 5 ปี และต่ออายุได้ครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง ผังเมืองกรุงเทพมหานครเองก็จะประกาศใช้ในช่วงประมาณ 7 ปีทุกครั้ง นับแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ทั้งนี้ ผังเมืองรวมในหลายจังหวัด ก็ไม่สามารถจัดทำได้ภายในกำหนดเวลา 7 ปี  จึงได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ผังเมืองเมื่อปลายปี 2558 ให้ผังเมืองรวมที่ประกาศใช้อยู่จะไม่มีวันหมดอายุ ในขณะเดียวกันก็ได้ทยอยประกาศใช้ผังเมืองรวมทั้งจังหวัดออกมาทั่วประเทศ ทำให้ผังเมืองซึ่งเดิมมีผลกระทบและมีความรับรู้ในวงจำกัด เริ่มส่งผลกระทบถึงประชาชนหรือชาวบ้านในทุกพื้นที่ และที่ผ่านมาประชาชนทั่วไปหรือภาคครัวเรือนเองก็ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องของผังเมืองเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว

การมีผังเมืองถือเป็นความจำเป็นที่จะทำให้เมืองมีการพัฒนาอย่างมีทิศทาง มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม ทำให้การพัฒนาเมือง สอดคล้องกับการจัดทำสาธารณูปโภคหรือสาธารณูปการต่างๆ และไม่เกิดปัญหาเหมือนในอดีตที่โรงงานอุตสาหกรรมปลูกสร้างอยู่ติดกับชุมชนหรือหมู่บ้าน และเกิดปัญหาผลกระทบตามมา แต่ในเชิงผลกระทบของผังเมืองที่จะเกิดกับภาคครัวเรือนมีตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นของผังเมืองรวม จ.ปทุมธานี ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2558  ได้มีข้อห้ามมิให้มีการก่อสร้างใกล้พื้นที่แหล่งน้ำหรือคลองทุกขนาดในหลายพื้นที่ของจังหวัด  โดยต้องมีระยะถอยร่น 15 เมตร ในขณะที่กฎหมายควบคุมอาคาร หรือข้อบัญญัติของแต่ละท้องถิ่นมักจะระบุคล้ายๆ กันว่า หากมีการก่อสร้างใกล้คลองหรือแหล่งน้ำที่มีความกว้างน้อยกว่า  10 เมตร การสร้างบ้านอยู่อาศัยก็ให้มีระยะถอยร่น 3 เมตร หากคลองหรือแหล่งน้ำมีความกว้างตั้งแต่ 10 เมตร ก็ให้มีระยะถอยร่น 6 เมตร 

แต่เมื่อข้อกำหนดในผังเมือง ระบุว่า ต้องมีระยะถอยร่น 15 เมตร ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองเพราะตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2522 ได้ระบุไว้ในมาตราที่ 12 ว่าเมื่อใดที่กฎหมายควบคุมอาคารหรือข้อบัญญัติของท้องถิ่นต่างๆ ที่ออกโดยเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบล หรือกรุงเทพมหานคร ขัดหรือแย้งกับผังเมือง ให้ใช้กฎหมายผังเมืองเป็นหลัก ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นของ จ.ปทุมธานี แม้ว่าผู้ขออนุญาตก่อสร้างบ้านจะได้รับอนุญาตจากเทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลแล้ว แต่หากได้รับอนุญาตหลังจากที่ผังเมืองประกาศใช้ ก็ต้องยึดถือตามกฎหมายผังเมือง คือ ต้องมีระยะถอยร่น 15 เมตร ตัวอย่างดังกล่าวนี้กระทบต่อผู้มีที่ดินเพียง 50-100 ตร.ว. และอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการจัดสร้างบ้านอยู่อาศัยของตนเอง

กฎหมายผังเมือง แม้ว่าจะไม่มีการหมดอายุ แต่กฎหมายได้ระบุให้ต้องมีการทบทวนผังเมือง  ในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ผู้เขียนได้มีโอกาสไปร่วมสัมมนาเรื่องผังเมืองที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ปรากฏว่าพื้นที่ที่ผู้ร่างผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง คือ ให้พัฒนาเป็นเขตเมืองที่มีความหนาแน่นสูง ชาวบ้านและประชาชนให้ความเห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีน้ำท่วมทุกปีไม่ควรกำหนดให้เป็นเขตที่มีความหนาแน่นสูงหรือเป็นพื้นที่สีแดงบางพื้นที่ชาวบ้าน สะท้อนว่า บางพื้นที่อยากให้มีการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ หรือบางพื้นที่ชาวไร่ สะท้อนว่า ต้องขนผลผลิตการเกษตรไปส่งให้โรงงานแปรรูปเป็นระยะทางไกลมาก เพราะพื้นที่สีม่วงที่จะสร้างโรงงานแปรรูปได้ถูกกำหนดให้ไปอยู่อีกโซนหนึ่ง ผู้ร่างผังเมืองก็มีการแก้ไขให้โรงงานที่เชื่อมโยงกับการเกษตรบางประเภทที่ไม่ก่อมลภาวะ สามารถสร้างในพื้นที่เกษตรกรรมบางพื้นที่ได้ มุมมองหลากหลายเหล่านี้ ผู้ร่างผังเมืองไม่สามารถทราบข้อเท็จจริงได้ดีกว่าชาวบ้านหรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ผู้เขียนจึงเห็นว่าผังเมืองเป็นเรื่องของภาคครัวเรือนเป็นเรื่องของชาวบ้าน ที่ทุกคนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมนะครับ