posttoday

กรมโยธาฯ เดินหน้า ผังภาคกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ยกระดับสู่มหานครแห่งเอเชีย

05 กุมภาพันธ์ 2560

การจัดทำร่างผังเมืองเพื่อนำไปสู่ภาคมหานครแห่งเอเชีย เริ่มจากวางระบบผังเมืองตามหลักเมืองศูนย์กลางและเมืองบริวาร

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

จากการเติบโตของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จนกลายเป็นมหานครที่ขยายตัวทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ที่ผ่านมาปัญหาที่พบคือการเชื่อมต่อกันของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินของกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ไม่เป็นระเบียบและขัดแย้งกัน มีการพัฒนาแหล่งธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม ที่อยู่อาศัยอีกทัั้งมีการขยายตัวของเมืองรุกล้ำพื้นที่เกษตรกรรม และเกิดปัญหาของเมืองตามมาอีกมากมาย

กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงได้ดำเนินโครงการวางผังภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเป็นผังแม่บททางกายภาพที่ชี้นำการพัฒนากรุงเทพฯ และปริมณฑลเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่ให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบให้เกิดขึ้นให้ได้ภายในปี 2560 โดยการจัดทำผังภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือภาคมหานครแห่งเอเชีย ภายใต้บทบาทสำคัญ 5 ด้าน ประกอบด้วย 1.ศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่ง 2.ศูนย์กลางภาคการค้าและบริการ 3.ศูนย์กลางเทคโนโลยีชั้นสูง 4.ศูนย์กลางด้านสาธารณสุขและการแพทย์ 5.ศูนย์กลางด้านการท่องเที่่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

แก้ปัญหาไร้รอยต่อเมือง

การจัดทำร่างผังเมืองเพื่อนำไปสู่ภาคมหานครแห่งเอเชีย เริ่มจากวางระบบผังเมืองตามหลักเมืองศูนย์กลางและเมืองบริวาร โดยกำหนดพื้นที่พัฒนาเมืองและจำกัดการขยายตัวของพื้นที่เมืองด้วยพื้นที่สีเขียวล้อมรอบเมืองที่ทำหน้าที่เป็นทางระบายน้ำและกำหนดเมืองบริวารที่อยู่ในเขตเกษตรกรรมทั้งสองฝั่งของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

แบ่งพื้นที่เมืองกับพื้นที่ชนบทด้วยทางระบายน้ำหลาก (Floodway) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เมืองศูนย์กลางในส่วนพื้นที่ตอนกลางของภาคมหานคร พื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของภาคมหานครจึงถูกกำหนดให้เป็นทางระบายน้ำหลากเพื่อไปสู่พื้นที่แก้มลิงและพื้นที่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย พื้นที่ด้านทิศใต้ของภาคมหานครทำหน้าที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจการเกษตร

พัฒนาพื้นที่ศูนย์กลางภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑลด้วยแนวคิดเมืองวงแหวนศูนย์กลาง ชั้นในสุดเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณีและจิตวิญญาณของประเทศอยู่บริเวณสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ชั้นที่สองเป็นพื้นที่ศูนย์กลางการเงินการธนาคารและเศรษฐกิจระดับนานาชาติสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคของธุรกิจสำคัญต่างๆ ของโลก ตามแนวสองข้างวงแหวนรอบใน (อโศก รัชดาภิเษก จรัญสนิทวงศ์) ย่านสีลม สาทร อโศกและพระราม 3 รวมถึงศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พหลโยธิน (ทิศเหนือ) ศูนย์มักกะสัน (ทิศตะวันออก) และศูนย์ตากสิน (ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ซึ่งเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมรองแห่งใหม่

ชั้นสามเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดีในเขตวงแหวนรอบที่สอง (กาญจนาภิเษก) ซึ่งมีทิศทางการขยายตัวที่แตกต่างกัน โดยพื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นการขยายตัวตามแนวเหนือ-ใต้ จากศูนย์กลางเมืองออกไปถึงรังสิต-ปทุมธานีและสมุทรปราการไปจรดทางระบายน้ำหลากฝั่งตะวันออก

ส่วนด้านตะวันตกขยายเป็นรัศมีออกจากศูนย์กลางเมืองออกไปยัง จ.นนทบุรีและกลุ่มเขตด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ โดยมีบางพื้นที่ได้รับการกำหนดให้เป็นย่านที่อยู่อาศัยชั้นดีแห่งใหม่ของภาคมหานครเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในอนาคต และมีศูนย์กลางรองที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งพาณิชยกรรมให้กับพื้นที่โดยรอบและประตูเชื่อมโยงภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศทั้ง 4 ทิศทาง ได้แก่ รังสิต-คลองหลวง (ด้านเหนือ) เมืองสมุทรปราการ (ด้านใต้) เมืองศูนย์กลางการบินสุวรรณภูมิ (ด้านตะวันออก) และเมืองศาลายา (ด้านตะวันตก)

ชั้นที่สี่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับภาคมหานครเป็นพื้นที่ระหว่างชั้นที่สาม (แหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี) กับทางระบายน้ำหลากทั้งสองฝั่ง โดยกำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ต่อจากพื้นที่เมืองเพื่อการเพาะปลูก

สร้างเมืองบริวารเฉพาะด้าน

ผังเมืองภาคนี้จะกำหนดเมืองบริวาร 4 เมือง ได้แก่ เมืองหนองจอก (เกษตรอินทรีย์) เมืองบางบ่อ (อุตสาหกรรมบริการ) เมืองนครปฐม (เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร) และเมืองสมุทรสาคร (อุตสาหกรรมประมง) โดยใช้แนวทางเมืองที่เลี้ยงตัวเองอย่างสมบูรณ์รองรับกิจกรรมที่ต้องการวัตถุดิบเฉพาะพื้นที่และไม่สามารถตั้งอยู่ในเขตเมืองได้เนื่องจากมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสูง

นอกจากนี้ ยังมีเมืองบริวารที่อาจได้รับการพัฒนาในอนาคต ได้แก่ เมืองหนองเสือ จ.ปทุมธานี เมืองกำแพงแสน จ.นครปฐม เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเกษตรกรรมชั้นดี ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองควบคู่กับเส้นทางคมนาคมขนส่งสายหลักของประเทศและภูมิภาค ทัั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ อาทิ ระเบียงเศรษฐกิจอาเซียน ศูนย์กลางขนส่งทางราง ท่าเรือคลองเตย กำหนดให้พัฒนาพื้นที่เป็นเมืองโลจิสติกส์ทางน้ำเพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดโลกด้วยการขนส่งที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพ เมืองศูนย์กลางทางการบิน ที่ใช้เป็นประตูเชื่อมโยงนานาชาติเป็นต้น

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ประเทศด้านผังเมืองต้องรีบนำกลับมาพิจารณาว่าผังเมืองจะรองรับการเติบโตของทุกภาคส่วนได้อย่างไร จะเห็นได้ว่าบางประเทศยกระดับผังเมืองเป็นระดับกระทรวงให้อำนาจดูแลได้ทั้งองค์รวม เป็นแนวคิดที่รัฐบาลต้องเร่งพิจารณาให้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับผังเมืองของประเทศ เพื่อรับการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผังภาค กทม.และปริมณฑลจะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่จะช่วยผลักดันให้ กทม.และปริมณฑลยกระดับสู่มหานครแห่งเอเชียอย่างแท้จริง