posttoday

"บีทีเอส" สยายปีกลงทุน ลุยซื้อกิจการโรงแรม ตปท.

12 กันยายน 2559

ถือเป็นก้าวย่างที่มั่นคงของบีทีเอส ที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นหัวจักรสำคัญในการลงทุนที่สามารถต่อยอดการลงทุนไปยังหลายธุรกิจ

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

ถือเป็นก้าวย่างที่มั่นคงของบีทีเอส ที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นหัวจักรสำคัญในการลงทุนที่สามารถต่อยอดการลงทุนไปยังหลายธุรกิจ ไม่ได้หยุดนิ่งแค่คมนาคมขนส่ง แต่เชื่อมต่อไปถึงธุรกิจบัตรโดยสารแรบบิท ธุรกิจสื่อโฆษณา อสังหาริมทรัพย์หลากหลายรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนผสานไปกับการเดินทาง       

กวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ กล่าวว่า บีทีเอสได้ลงทุนในธุรกิจรถไฟฟ้ามานานกว่า 20 ปี และเปิดใช้บริการมานานกว่า 17 ปี ได้มีการขยายไลน์ธุรกิจไปหลายรูปแบบ เริ่มจากการทำโฆษณา ซึ่งได้เห็นแนวทางธุรกิจที่เกิดขึ้นจากฮ่องกงจึงได้นำโมเดลธุรกิจนั้นมาปรับปรุงเพื่อใช้ในประเทศไทย หลังจากที่ได้เข้ามาช่วยบริหารธุรกิจนี้ตั้งแต่ปี 2540 และได้ก่อตั้งธุรกิจสื่อโฆษณาอย่างวีจีไอขึ้นเมื่อปี 2541 ปัจจุบันธุรกิจในเครือนั้นแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.บัตรบริการรถบีทีเอสหรือแรบบิท 2.ธุรกิจสื่อโฆษณา หรือวีจีไอ 3.อสังหาริมทรัพย์มีทั้งที่ร่วมทุนกับบริษัท แสนสิริ และพัฒนาเองในนามบริษัท ยู ซิตี้ ได้แก่ คอนโดมิเนียม โรงแรม สนามกอล์ฟ และ 4.โครงการบีทีเอสในส่วนต่อขยายที่จะไปประมูลลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าโมเดลการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้านั้นสามารถต่อยอดได้หรือซินเนอร์จี้ไปยังโมเดลธุรกิจอื่นได้ ซึ่งในประเทศฮ่องกงถือเป็นตัวอย่างที่ดี มีแนวคิดว่าจะเอาบัตรออคโตปุสมาใช้อย่างไร ต่อด้วยธุรกิจสื่อโฆษณา คือวีจีไอ ไปจนถึงการจัดตั้งบริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม หรือบีเอสเอส ที่ต้องการทำให้การใช้บัตรบีทีเอสสะดวกขึ้นในรูปแบบอี-เพย์เมนต์ซิสเต็มส์

ปัจจุบันบริษัทออกบัตรไปแล้วกว่า 6 ล้านใบ แต่ใช้งานจริงหรือแอ็กทีฟ 2.2 ล้านใบ การใช้งานต่อไปนั้นเกี่ยวข้องกับเชิงพาณิชย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม อย่างแมคโดนัลด์ หรือการจ่ายเงินตามศูนย์อาหารต่างๆ เนื่องจากกลุ่มผู้ที่ใช้บริการนั้นมีมากขึ้น ซึ่ง ณ วันนี้เริ่มรู้ไลฟ์สไตล์ของคนเมืองก็จะมีพันธมิตรเข้ามา อย่างอิออน ทำบัตรเดบิตการ์ด เพื่อเพิ่มความสะดวกทางด้านการเงินให้กับลูกค้า รวมไปถึงลงทุนในแพลตฟอร์มต่างๆ ยาวไปจนถึงแรบบิท ไฟแนนซ์ ที่ให้บริการธุรกิจประกันครบวงจร ทั้งการให้ประกันรถยนต์ เพื่อรู้ถึงไลฟ์สไตล์ของคนในทุกรูปแบบ โดยใช้ฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์มที่เป็นวันสต็อปเซอร์วิส และในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาได้ไปลงทุนในไลน์ไทยแลนด์ ในไลน์เพย์สามารถใช้แทนเงินสดได้ ซึ่งลงทุน 50% ในไลน์เพย์ใช้เงินลงทุน 700 ล้านบาท ต่อไปจะใช้คิวอาร์โค้ดในการใช้จ่ายทำให้บริษัทสามารถขยายการใช้งานของบัตรไปต่างจังหวัดได้ 

“บีทีเอสจะไม่ใช่ที่ทำการคมนาคมขนส่งเพียงอย่างเดียว แต่ถึงเวลาที่จะมีโอกาสในการอำนวยความสะดวก และการให้บริการยาวไปจนธุรกิจที่แจกสินค้าตัวอย่างก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ ที่ได้เก็บข้อมูลพฤติกรรมคนมาต่อยอดทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเอื้อประโยชน์กับอีกหลายธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่อสังหาริมทรัพย์”  

อย่างเช่นโครงการที่บริษัทได้ร่วมกับแสนสิริ ตั้งบริษัทร่วมทุนมาพัฒนาคอนโด เพราะรู้ว่าความถนัดด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นยังมีน้อย จึงต้องหาพันธมิตรที่มีความชำนาญมาร่วม เนื่องจากบริษัทพัฒนารถไฟฟ้าจะรู้ถึงพฤติกรรมลูกค้าที่อยู่อาศัยว่าส่วนใหญ่จะพักอาศัยอยู่ในทำเลใด แล้วจึงมาโฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย อย่างเช่นในกลุ่มลูกค้า 2 ล้านคน ที่ใช้บัตรแรบบิท แอ็กทีฟ ซึ่งจะมีจำนวนราว 2 แสนคน ที่เป็นกลุ่มผู้ซื้อที่จะมีกำลังซื้อ เป็นการต่อยอดฐานข้อมูลทางด้านการให้บริการ เพราะบีทีเอสอีกประมาณ 14 ปี สัญญาสัมปทานก็หมดจึงต้องหาทางด้านอื่นมาเสริม ปัจจุบันมีบริษัทร่วมทุนกับแสนสิริแล้ว 15 บริษัท โดยเป้าต้องการทำ 25 บริษัทภายใน 5 ปี และปีนี้เริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว แต่เป็นหลัก 100 ล้านบาทในปีแรก โดยตั้งเป้าจะมีรายได้ 10% จากการลงทุนร่วมกัน 4-5 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีธุรกิจดำเนินการต่อเนื่อง คือ สนามกอล์ฟธนาซิตี้ แอนด์ สปอร์ตคลับ โรงแรมอีสติน และอาคารสำนักงาน ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่จะต้องพัฒนาตลอด นอกจากนี้ยังมีที่ดินแปลงใหญ่ตรงข้ามแดนเนรมิตเก่าจะร่วมกับบริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ หรือจีแลนด์ บนที่ดินกว่า 38 ไร่ นำมาพัฒนาโครงการและตัดขายบางส่วน อยู่ระหว่างคิดรูปแบบโครงการ อาจจะเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่

แต่โครงการที่มีความชัดเจนในการพัฒนาแล้วคือการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท ยู ซิตี้ มีที่ดินติดสถานีพญาไทเป็นที่ดินเก่า เนื้อที่ 7 ไร่ จะพัฒนาเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน โรงแรมและอพาร์ตเมนต์ให้เช่า ใช้เงินลงทุน 6,000 ล้านบาท ขณะนี้เริ่มเข้าสู่การขออนุญาตทางด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 และยังมีที่ดินบริเวณหมอชิตเก่า จากเดิมบริษัทมีที่ดิน 15 ไร่ โดยได้ขาย 5 ไร่ให้กับบริษัทร่วมทุนกับแสนสิริที่พัฒนาโครงการเดอะ ไลน์ จตุจักร-หมอชิต เหลือ 10 ไร่ จะเริ่มพัฒนาในรูปแบบอาคารสำนักงานให้เช่า 7 หมื่นตารางเมตร มูลค่าการลงทุนเบื้องต้นกว่า 4,000 ล้านบาท เป็นโครงการที่จะพัฒนาเอง จะเริ่มพัฒนาพร้อมกับโครงการพญาไทในปี 2560

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาในการออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในยุโรปและสหรัฐ เนื่องจากทรัพย์สินมีราคาค่อนข้างต่ำ โดยพิจารณาไปในประเทศใหม่ เช่น ประเทศเช็ก ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ รวมไปถึงสแกนดิเนเวีย เป็นประเทศใหม่ที่คนไทยนิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วย รวมถึงอาคารสำนักงาน เนื่องจากบริษัทสามารถกู้เงินได้ในต้นทุนที่ต่ำ เบื้องต้นอาจจะมีการซื้อในรูปแบบที่เป็นแพลตฟอร์มทางธุรกิจ เพราะบริษัทมีการทำธุรกิจโรงแรมอยู่แล้ว มีแบรนด์ของเราแล้ว อาจจะซื้อโรงแรมที่นั่น ซึ่งจะมีการปรับโดยใช้แบรนด์อีสตินในบางแห่ง เนื่องจากการบริหารโรงแรมนั้นกำไรจะมาจากการบริหารหรือแมเนจเมนต์ แพลตฟอร์ม กำไรไม่ได้มาจากการซื้อทรัพย์สินที่เป็นตัวอาคาร

ขณะนี้กำลังพิจารณาทั้งการซื้อแพลตฟอร์มหรือการบริหารจัดการ และตัวอาคารที่นั่น เหมือนกับโรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร บริเวณสถานีบีทีเอสสุรศักดิ์ ที่บริษัทเป็นผู้ดำเนินการเอง ปัจจุบันบริษัทมีคอนโดแบรนด์อีสติน และแบรนด์ยู มีห้องพักอยู่จำนวนเกือบ 4,000 ห้อง โดยมีการให้บริการอยู่ที่เวียดนาม บาหลี ภูเก็ต พัทยา ซึ่งได้ร่วมกับบริษัท แอ็บโซลูท โฮลเท็ล เซอร์วิสเซส เริ่มจากการลงทุนในส่วนของบีทีเอส 4 ล้านบาท และทางบริษัท แอ็บโซลูทฯ ลงทุน 4 ล้านบาทเช่นกัน ณ วันนี้มูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 600-700 ล้านบาท ภายในช่วงเวลา 10 ปี

ปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มบีทีเอสนั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท เฉพาะโครงการธนาซิตี้ยังมีที่ดินอยู่กว่า 200 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นที่ดิน ณ วันนี้บีทีเอสขยายฐานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านบริษัท ยู ซิตี้ เป็นผู้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการร่วมทุนกับบริษัท แสนสิริ รวมไปถึงการศึกษาเพื่อขยายช่องทางการลงทุนในต่างประเทศเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจให้เช่า โดยเฉพาะโรงแรมที่จะต่อยอดการเติบโต เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจสำคัญอีกขาหนึ่งที่เติบโตได้ในภาวะเศรษฐกิจซบเซา