posttoday

ป้องกันปัญหา พื้นห้องน้ำรั่วซึม

18 มกราคม 2560

ห้องน้ำในบ้านเมื่อใช้งานไปสัก 15-20 ปี มักจะมีการปรับปรุงซ่อมแซม หลายคนอาจนึกถึงการรื้อกระเบื้อง วัสดุปิดผิวพื้น และโถสุขภัณฑ์เก่าออก

โดย...SCG experience

ห้องน้ำในบ้านเมื่อใช้งานไปสัก 15-20 ปี มักจะมีการปรับปรุงซ่อมแซม หลายคนอาจนึกถึงการรื้อกระเบื้อง วัสดุปิดผิวพื้น และโถสุขภัณฑ์เก่าออก แล้วแทนที่ด้วยของใหม่อันสวยงาม ซึ่งในความเป็นจริงอาจไม่ใช่แค่นั้น เพราะห้องน้ำเก่าที่ไม่เคยทำระบบกันซึมเต็มระบบอาจเกิดปัญหาพื้นห้องน้ำรั่วซึมได้

ปกติคอนกรีตที่นำมาใช้หล่อพื้นห้องน้ำจะผสมน้ำยากันซึมไว้ด้วย น้ำยากันซึมจะทำให้คอนกรีตมีเนื้อแน่นขึ้น ซึ่งนอกจากช่วยกันน้ำซึมได้แล้วยังช่วยป้องกันการแตกร้าวได้ด้วย อย่างไรก็ตามน้ำยากันซึมไม่ได้ทำให้คอนกรีตกันน้ำซึมได้ตลอดไป เพราะคอนกรีตเองย่อมต้องมีอายุการใช้งาน

นอกจากนี้ หากใส่น้ำยากันซึมผิดวิธี ผิดสัดส่วนไปจากที่ผู้ผลิตกำหนดก็จะกันซึมได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันพื้นห้องน้ำจะต้องเผชิญกับความเปียกชื้นและมีโอกาสเกิดน้ำขัง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้รั่วซึม ไม่ว่าจะเป็นตามรอยต่อพื้นผนัง รอยเจาะเดินท่อ รอยรั่วตามวัสดุปิดผิวพื้น รวมถึงการติดตั้งกระเบื้องและยาแนวที่ผิดวิธีก็อาจเกิดรูรั่วและช่องว่างให้น้ำเข้าไปขังใต้กระเบื้องได้ง่าย

การป้องกันเรื่องรั่วซึมในระยะยาว เราจึงควรทำระบบกันซึมอื่นๆ ร่วมด้วยก่อนจะติดตั้งวัสดุปิดผิว เช่น กระเบื้อง กรวดล้าง ทรายล้าง วัสดุกันซึมสำหรับห้องน้ำที่นิยมใช้กันคือ วัสดุกันซึมประเภทซีเมนต์เบส (Cementitious Waterproofing) ซึ่งจะมีส่วนผสมของโพลีเมอร์ด้วย จึงทำให้มีความยืดหยุ่น หากเกิดการสั่นสะเทือนของพื้น เนื้อวัสดุกันซึมจะไม่แตกเปราะง่ายนัก และมีข้อดีอีกอย่างคือ ติดตั้งง่าย ช่างส่วนใหญ่สามารถทำได้ เพราะเป็นวัสดุสำเร็จรูปที่ใช้ทาบนพื้นห้องน้ำที่ปรับระดับเรียบร้อยแล้วได้เลย

มาถึงตรงนี้ เจ้าของบ้านคงได้ทราบถึงวิธีที่ช่วยป้องกันปัญหาห้องน้ำรั่วด้วยการทำระบบกันซึมบนพื้น แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ก็นับว่าคุ้มค่าที่จะลงทุนเมื่อเทียบกับการใช้งานในระยะยาว ทั้งนี้เมื่อเจ้าของบ้านติดตั้งระบบกันซึมแล้ว อย่าลืมให้ความสำคัญกับวัสดุปิดผิวปูพื้น โดยเลือกชนิดวัสดุที่เหมาะสม ติดตั้งด้วยวิธีที่ถูกต้องตามมาตรฐาน รวมถึงหมั่นบำรุงรักษาเป็นประจำโดยใช้น้ำยาทำความสะอาดที่ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรงจนเกินไป และหากเป็นกระเบื้องควรหมั่นยาแนวใหม่ทุกปี