posttoday

กูรูอสังหาฯชี้ช่อง ลงทุนฝ่าปัจจัยลบ

14 มิถุนายน 2560

แม้ว่าเศรษฐกิจในไทยและต่างประเทศ ยังคงผันผวน ใครที่ปรับตัวได้รวดเร็วและจับตลาดได้ถูกทิศทางย่อมได้เปรียบ

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

แม้ว่าเศรษฐกิจในไทยและต่างประเทศ ยังคงผันผวน ใครที่ปรับตัวได้รวดเร็วและจับตลาดได้ถูกทิศทางย่อมได้เปรียบ โดยเฉพาะการนำประสบการณ์จากผู้ที่เคยผ่านวิกฤตมาใช้จะทำให้เติบโตรวดเร็วและก้าวข้ามผ่านปัญหาในอนาคต

อนันต์ อัศวโภคิน อดีตประธานกรรมการและประธานกรรมการ บริหาร บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กล่าวว่า บริษัทเริ่มออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศตั้งแต่ปี 2535 โดยมองโอกาสจากประเทศเศรษฐกิจกำลังเติบโต เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน แต่ล้มเหลวทุก

ประเทศ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เข้าไปเป็นผู้บริหารเอง ประกอบกับกฎหมายไม่มีความชัดเจนเมื่อเกิดปัญหาลดค่าเงินบาท เมื่อปี 2540 ทำให้บริษัทต้องปรับ รูปแบบการลงทุนใหม่ คือ ต้องลงทุนในประเทศที่มีกฎหมายแข็งแรง เช่น สหรัฐ เห็นได้จากการพัฒนาซิลิคอน วัลเลย์ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สุด มีการพัฒนาจาก กูเกิล เฟซบุ๊ก หรือรถยนต์เทสล่า โดยในช่วง 4 ปี หรือตั้งแต่ปี 2556 ได้ซื้ออาคารเก่ามาพัฒนาใหม่ปรับปรุงแล้วขาย ปัจจุบันขายไปแล้ว 5 อาคาร โดยการซื้อและจ้างงานในสหรัฐมีการปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ

"การลงทุนในช่วงแรก ค่อนข้างเยอะมากและขาดทุนหมดตัว หลายพันล้านบาท แต่หลังจากไปลงทุนในประเทศอเมริกา ก็มีช่องทางให้ลงทุนแต่ต้องหาตลาดเฉพาะหรือนิชมาร์เก็ตให้เล่น โดยกำหนดจะต้องซื้อโครงการไม่เกิน 200-300 ยูนิต ต้องเป็นอาคารที่มีผู้เช่าอยู่แล้ว และเราต้องพัฒนาเพิ่ม เช่น ซื้อตึกมาแล้วแต่ตึกดังกล่าวไม่มีร้านอาหารก็พัฒนาให้มีร้านอาหารเพิ่ม หรือแม้กระทั่งใส่ไว-ไฟฟรีเข้าไปในโครงการเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถปรับเพิ่มค่าเช่าได้ ซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่า 30%" อนันต์ กล่าว

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า ดำเนินธุรกิจ อสังหาฯ มานาน 9 ปี เผชิญปัญหามาตลอดและค่อยๆ แก้ไขปัญหา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกำลังซื้อผู้บริโภค แต่บริษัทก็สามารถผ่านมาได้ โดยที่บริษัทเติบโตมาจากโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อโครงการรถไฟฟ้าไปทางไหน บริษัทก็จะไปทำโครงการเจาะบริเวณนั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญ

สิ่งสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตมาจากการบริหารหลายรูปแบบ ทั้ง ฟันด์ดิ้ง ระดมเงินทุน โดยปัจจัยที่ทำให้บริษัทเติบโตเร็ว คือ การซื้อที่ที่ต้นทุนไม่สูงมาก แต่มีอัพไซส์ที่สามารถทำราคาได้ รวมถึงการลงทุนต่างๆ โดยใช้เงินทุนจากฟันด์ดิ้งในไทย

วรยุทธ กิตติอุดม ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รุ่งกิจ เรียลเอสเตท กล่าวว่า การพัฒนาโครงการต้องหากลุ่มลูกค้าที่ชัดเจน สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ซึ่งทางบริษัทคัดกรองลูกค้าที่ไม่เคยมีหนี้เสียให้ธนาคาร ทำให้ลูกค้าได้รับอนุมัติ สินเชื่อจากธนาคารค่อนข้างมาก

"สิ่งที่สร้างความเติบโตให้บริษัท มาจากสิ่งเล็กๆ ที่บริษัทมุ่งเน้นทำ สินค้าให้ดี ตอบโจทย์ตลาดได้และให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย" วรยุทธ กล่าว