posttoday

Home for All เร่งรัฐหนุนคนไทยมีบ้าน

28 พฤษภาคม 2560

ในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย

โดย...ทีมข่าวอสังหาริมทรัพย์โพสต์ทูเดย์

เริ่มคิกออฟอย่างเป็นทางการกับโครงการแอพพลิเคชั่น “คนไทยมีบ้าน : Home for All” หนึ่งในจิ๊กซอว์ของแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี ตั้งแต่ 2560-2579 นโยบายสำคัญที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางให้มีที่อยู่อาศัยที่มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 

แอพ Home for All จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือของ 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สังกัดกระทรวงการคลัง การเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการสำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยตัวเป็นๆ เพื่อใช้ในการวางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน

ถือเป็นการต่อภาพในด้านดีมานด์ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อมากำหนดแนวทางในการพัฒนาในส่วนของซัพพลายกันต่อไป แม้ว่างานในระดับนโยบายด้านที่อยู่อาศัยที่เป็นภาพใหญ่จะออกตัวช้าไปบ้าง แต่ก็ยังดีที่รัฐบาลชุดนี้พยายามทำคลอดให้ทันก่อนหมดวาระไปในเร็วๆ นี้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการบ้านที่จะต้องทำอีกมาก โดยเฉพาะนโยบายเชิงรุกที่ต้องเร่งรวมถึงการเปิดกว้างเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับเอกชนหนึ่งในผู้ผลิตซัพพลายในตลาด

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย และพัฒนา บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) กล่าวว่า เป็นเรื่องดีที่มีแอพพลิเคชั่นสำรวจความต้องการซื้อบ้าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากทุกภาคส่วนสามารถใช้ข้อมูลนี้ได้โดยเฉพาะดีเวลลอปเปอร์เพราะปัจจุบันต่างคนต่างทำ

“หากสามารถเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เครดิตบูโร ฯลฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลสมบูรณ์มากขึ้นก็ทำให้ทราบว่า ความต้องการของแต่ละคนเป็นอย่างไร และมีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยระดับไหน ก็จะช่วยให้ภาคเอกชนพัฒนารูปแบบโครงการได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริงในแต่ละกลุ่ม และควรจะให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำฐานข้อมูลด้วย”สุรเชษฐ กล่าว

ขณะที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มองว่า รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจผลักดันให้ยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย โดยกำหนดการสนับสนุนประชาชนให้มีที่อยู่อาศัยเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องมีงบประมาณหรือมีการจัดสรรเงินสนับสนุน เหมือนที่หลายๆ ประเทศทำกัน ซึ่งต้องปรับกระบวนคิดใหม่ จากที่ผ่านมาคนภาครัฐทั้งในระดับรัฐบาลและหน่วยราชการ มักมองว่า การใช้งบสนับสนุนคนให้มีบ้านยังเป็นสิ่งที่จำเป็นน้อยกว่าเรื่องอื่นๆ และเกรงว่าจะเป็นการใช้ภาษีมาเอื้อต่อเอกชน

กรณีศึกษาต่างประเทศหนุนคนมีบ้าน

ในหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีบ้านเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทั้งการสนับสนุนด้านการเงิน การอำนวยสินเชื่อ สำหรับผู้ที่พอมีกำลังซื้อ และการให้เช่าราคาถูก ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

สำหรับสิงคโปร์ปัญหาที่อยู่อาศัยจึงกลายเป็นหนึ่งในประเด็นหาเสียงสำคัญของการเลือกตั้งในปี 1959 ที่พรรคกิจประชาชนนำโดยลี กวนยิว ชนะการเลือกตั้ง และนำไปสู่การก่อตั้งคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ (HDB) ขึ้นในปี 1960 เพื่อดำเนินโครงการเคหะชุมชนสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยมีการสร้างแฟลตขึ้นอีกราว 3 หมื่นยูนิตภายใน 3 ปี

ปัจจุบันได้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยไปแล้วกว่า 1 ล้านยูนิต โดยรัฐสนับสนุนหรืออำนวยความสะดวกทางการเงิน เช่น โครงการเงินกู้เพื่อซื้อบ้านเคหะชุมชน (HLE) และการอนุญาตให้ใช้เงินออมในโครงการบำเหน็จบำนาญของรัฐเพื่อผ่อนดาวน์ในโครงการ

ขณะที่มาเลเซีย รัฐบาลตั้งเป้าจะช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้คนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยก่อน โดยตั้งเป้าจะสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ให้ได้ 6.06 แสนยูนิต ระหว่างปี 2016-2020 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

โครงการบ้านเอื้ออาทรมาเลเซียสำหรับผู้มีรายได้น้อยมีหลายโครงการ อาทิ โครงการ“วัน มาเลเซีย เฮาส์ซิง” หรือ PR1MA ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 ดำเนินการโดยบริษัท เปอร์บาดานัน พรีมา มาเลเซีย ภายใต้การกำกับของกระทรวงสวัสดิการชุมชน การเคหะ และรัฐบาลท้องถิ่น/โครงการที่อยู่อาศัยเป็นมิตรกับคนมาเลเซีย (RMR1M) และโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับคนรุ่นใหม่ (PGBF) โดยส่วนใหญ่เป็นการช่วยให้ประชาชนได้เช่าหรือซื้อบ้านในราคาถูก

ฮ่องกง ซึ่งการเป็นศูนย์กลางทางการเงินเอเชียสวนทางกับพื้นที่ที่จำกัดทำให้ราคาบ้านและที่ดินขึ้นทำเนียบแพงติดอันดับโลกมาทุกปี กดดันให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากต้องพึ่งโครงการเคหะชุมชนของรัฐที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการการเคหะฮ่องกง และสมาคมที่อยู่อาศัยฮ่องกง

ทั้งนี้ โครงการส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะของแฟลตตึกสูงการซื้อหรือเช่าบ้านเคหะชุมชนในฮ่องจะมีราคาถูกกว่าราคาของเอกชน โดยรัฐจะนำรายได้จากค่าธรรมเนียมและค่าเช่าที่ร้านค้า ที่จอดรถ และธุรกิจอื่นในเขตหรือรอบนอกชุมชนมาเป็นเงินอุดหนุนโครงการ นอกจากนี้ ผู้ซื้อบ้านเอกชนยังได้รับการอุดหนุนจากโครงการของรัฐด้วย

คงต้องติดตามและลุ้นกันต่อว่า นโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติของรัฐบาลลุงตู่จะมีหน้าตาเช่นไร ที่สำคัญประชาชนจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน

Home for All เร่งรัฐหนุนคนไทยมีบ้าน

 

ชงยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยเข้าครม.

จากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการแอพพลิเคชั่น คนไทยมีบ้าน : Home for All” เพื่อสำรวจความต้องการด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมตามยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560-2579) รวมทั้งจัดทำเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนพัฒนาปริมาณที่อยู่อาศัยใหม่ให้ตรงกับความต้องการของประชาชนในอนาคต ล่าสุดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้

ขณะที่ ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช.จะนำฐานข้อมูลจากแอพพลิเคชั่นดังกล่าวนำมาประยุกต์ใช้กับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุดที่ 1 ปี 2559 จำนวน 21 โครงการ 6,129 หน่วย เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งด้านทำเลที่ตั้งโครงการ ระดับราคา และสอดคล้องกับรายได้ของผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยให้คนไทยมีบ้านอย่างถ้วนทั่วตามนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ กคช.ยังมีแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 5 ปี (2560-2564) โดยได้มีการวางเป้าหมายสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางประมาณ 1 แสนหน่วย ประกอบด้วยการพัฒนาโครงการในรูปแบบบ้านเช่า 4.1 หมื่นหน่วย โครงการบ้านสำหรับข้าราชการ 4.8 หมื่นหน่วย

อย่างไรก็ดี จากแผนยุทธศาสตร์ฯ 20 ปี กคช.ได้รับมอบหมายให้พัฒนาที่อยู่อาศัยรองรับประมาณ 2 ล้านหน่วย โดยจะต้องได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นประเด็นสำคัญเพราะจำนวนหน่วยมีมาก ส่วนมาตรการที่อยู่อาศัยในอนาคตจะมุ่งเน้นที่อยู่อาศัย

สำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งในระยะอันใกล้นี้ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ เป็นต้น