posttoday

ดึงเอกชนทำบ้านคนจน

19 พฤษภาคม 2560

การเคหะฯ เตรียมดึงเอกชนร่วมสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย รูปแบบมิกซ์ยูส ด้านผู้ประกอบการชงรัฐยืดหยุนเงื่อนไข

การเคหะฯ เตรียมดึงเอกชนร่วมสร้างบ้านผู้มีรายได้น้อย รูปแบบมิกซ์ยูส ด้านผู้ประกอบการชงรัฐยืดหยุนเงื่อนไข

นายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า ในร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี (2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 5 ด้าน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนในทางปฏิบัติ โดยในส่วนของ กคช.มีแผนพัฒนาที่อยู่อาศัย 5 ปี (2560-2564) โดยมีเป้าหมายสร้างบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลางประมาณ 1 แสนหน่วย บ้านเช่า 4.1 หมื่นหน่วย บ้านสำหรับข้าราชการ 4.8 หมื่นหน่วย รวมทั้งมีแผนพัฒนาโครงการร่วมกับเอกชน

สำหรับที่ผ่านมาโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับสนใจจากภาคเอกชน เนื่องจากติดปัญหา เช่น เรื่องของกฎหมาย ข้อจำกัดด้านที่ดิน พีพีพีไม่เอื้อต่อเอกชน ขาดกลไกด้านการเงินที่เหมาะสม รวมผลตอบแทนน้อยและเสี่ยง

"เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน ทาง กคช.มีแผนสร้างมูลค่าเพิ่มจากการร่วมลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนที่ 5% โดยดำเนินการใน รูปแบบมิกซ์ยูส เป็นต้น" นายธัชพล กล่าว

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า การจะให้ภาคเอกชนร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ภาครัฐต้องแก้ไข เช่น การปรับผังเมือง หรือเพิ่มโบนัส เอฟเออาร์ให้กับโครงการ ซึ่งจะทำให้ราคาโครงการลดลง 30-40% จากราคาปกติ ต้องสนับสนุนให้จัดกองทุนอุดหนุนที่อยู่อาศัย รวมทั้งโครงการควรได้รับยกเว้นภาษีต่างๆ ทั้งนี้มองว่ากองทุนประกันเงินกู้อาจไม่ช่วย แต่จะดันหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล เพิ่มขึ้น

ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า กระทรวงได้ดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (2560-2579) เพื่อใช้เป็นกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะยาวและเสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายและครอบคลุมในทุกมิติภายใต้วิสัยทัศน์ "คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 : สมาร์ท เฮาส์ซิ่ง ซึ่งเป็นการบูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน

ทั้งนี้ พม.จะเร่งสรุปข้อเสนอจากทุกภาคส่วนเพื่อปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ คาดจะเสร็จเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้