posttoday

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก

11 พฤษภาคม 2560

สมาร์ท ซิตี้ ของประเทศญี่ปุ่นที่ขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้ง ภาครัฐ เอกชน มหาวิทยาลัย และท้องถิ่นอย่างมีแบบแผน

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ภายหลังความเจ็บปวดจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งนี้ 2 ประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาเพียงไม่กี่สิบปี ฟื้นฟูพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจหรือตัวแปรสำคัญของโลกใบนี้

อย่างไรก็ตามด้วยความที่ต้องรองรับกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับภัยพิบัติจากธรรมชาติที่คุกคามอยู่เป็นระยะทำให้พวกเขาหยุดนิ่งไม่ได้ที่จะพัฒนาตัวเอง

เร็วๆ นี้ คาชิวะ โนฮา กำลังกลายเป็นโมเดลให้กับทั่วโลกได้เห็นว่า สมาร์ทซิตี้ ที่ผ่านการวางแผน เดินหน้าอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาเมืองนั้นเป็นอย่างไร…

คาชิวะ โนฮา สมาร์ท ซิตี้ ต้นแบบ

ภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหว ที่แต่ละครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียทั้งชีวิตและตัวเลขทางเศรษฐกิจ ความแออัดของประชากรในเมืองใหญ่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งหมดกลายเป็นที่มาให้ มิตซุย ฟุโดซัง บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ออกไอเดียพัฒนาเมืองใหม่ ที่ไม่ใช่แค่อยู่สบาย แต่ยังต้องปลอดภัยและมีอนาคตที่ดีด้วย โดยล็อกเป้าพัฒนาพื้นที่ เมืองคาชิวะ จังหวัดชิบะ ซึ่งห่างจากโตเกียวราว 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 30 นาที และจากสนามบินราว 50 นาที

โคอิจิ คาโตะ ผู้บริหารฝ่ายวางแผนกลุ่มธุรกิจระหว่างประเทศ ของ มิตซุย ฟูโดซัง เล่าว่า อดีตเมื่อ 100 ปีก่อนพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่เลี้ยงม้าของพวกทหาร ต่อมาบริษัทได้ซื้อที่และสร้างเป็นสนามกอล์ฟ เปิดให้บริการต่อเนื่องยาวนานถึง 40 ปี กระทั่งราวปี ค.ศ. 2004 ภาครัฐตัดสินใจสร้างสถานีรถไฟฟ้าซึคูบะขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ปัญหาเรื่องความแออัดของประชากร ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหาผู้สูงอายุ ทำให้เขามองเห็นโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตขึ้น

“ประเทศเราเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วก็จริง แต่ไม่ได้มีแต่ข้อดี ยังมีปัญหาพอสมควร เช่น ความแออัด สิ่งแวดล้อม จำนวนผู้สูงอายุ เรื่องพวกนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศเราอย่างเดียว ผมคิดว่ามันจะเกิดขึ้นในประเทศไทยและที่อื่นๆ ด้วยในอนาคต”

 

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก คาชิวะ โนฮา ในปี 2547

 

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก คาชิวะ โนฮา ในปี 2557

มิตซุย ฟูโดซัง ตัดสินใจเนรมิตเปลี่ยนแปลงสนามกอล์ฟให้กลายเป็นสมาร์ท ซิตี้  ด้วยวิสัยทัศน์ "Create Vision of The Future" โดยมีคอนเซปต์ 3 อย่างในสมองตอบสนองการแก้ปัญหาให้กับอนาคต ได้แก่

1.การพึ่งพาอาศัยกันทางสิ่งแวดล้อม

2.สุขภาพและการมีชีวิตที่ยืนยาว

3.สร้างสรรค์อุตสาหกรรมใหม่ๆ และเป็นแหล่งรวมของเหล่าสตาร์ทอัพ

“นอกเหนือไปจากสิ่งปลูกสร้าง เราพยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เมืองน่าอยู่อาศัยเข้าไปด้วย เมืองแห่งนี้มีพื้นที่รองรับกลุ่มสตาร์ทอัพจากบริษัทต่างๆ มีการออกแบบบรรยากาศที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์และการแลกเปลี่ยนเชื่อมต่อกันระหว่างบริษัท เพื่อให้แนวคิดพวกเขาก้าวไปสู่ความสำเร็จ หรือนำไปสู่การเกิดใหม่ของกิจการและอุตสาหกรรมอันน่าตื่นตาตื่นใจ”

ผู้บริหาร รายนี้บอกต่อว่า จุดเด่นของเมืองคือ การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งแตกต่างไปจาก Smart City แห่งอื่นที่อาจละเลย ขณะเดียวกัน คาชิวะ โนฮา ยังให้ความสำคัญมากกับเรื่องพลังงานมาก โดยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ติดตั้งโซล่าเซลล์ไว้ตามจุดต่างๆ รอบเมือง พร้อมกับมีศูนย์บริหารพลังงานรูปแบบ Eco-system ครบวงจร  คอยจัดการพลังงาน ทั้งสร้าง เก็บและจ่ายไฟสำรองในกรณีฉุกเฉิน

“ปัญหาคือเมื่อเกิดแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น ไฟฟ้าจะดับทั่วเมือง เราจึงคิดแก้ปัญหาด้วยการมีระบบควบคุมการใช้พลังงาน เมืองแห่งนี้สามารถอยู่ได้ถึง 3 วัน โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากทางการ เมื่อเกิดไฟดับสามารถแชร์ไฟฟ้าระหว่างตึกได้ เป็นความพิเศษที่มากกว่าเมืองอื่น”

สำหรับระบบโดยสาร เมืองแห่งนี้ใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด มีรถยนต์ สกู๊ตเตอร์ จักรยานที่สามารถใช้ร่วมกันได้ กรณีฉุกเฉินมีรถยนต์ไฮบริดไว้สำรองและไม่จำเป็นต้องมีรถยนต์ส่วนตัว

 

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก

 

 

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก ศูนย์บริหารพลังงานรูปแบบ Eco-system ครบวงจร

 

สร้างเมืองอย่างมีแบบแผน เป้าหมาย และไม่น่าเบื่อ

คาชิวะ โนฮา มีขนาดพื้นที่รวมทั้งสิ้น 3 ล้านตารางกิโลเมตร ปัจจุบันกำลังพัฒนาในพื้นที่ส่วนกลางและสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นเฟสแรก จากระยะเวลาพัฒนารวมทั้งสิ้น 25 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2548-2573 นับจากนี้เหลืออีกราว 13 ปีถึงจะเสร็จสมบูรณ์

โคอิจิ เล่าว่า โจทย์สำคัญในการออกแบบนั้นคือ เมืองจะกลายเป็นเมืองได้จำเป็นต้องมีคนอยู่ไม่ว่ากลางวันหรือกลางคืน ช่วงแรกนั้นตอนกลางวันผู้คนต่างพากันออกไปทำงานหมด ทำให้บริษัทคิดว่า นอกเหนือจากพื้นที่อาศัยแล้ว ควรจะมีศูนย์การค้า ศูนย์วิจัย ส่วนสาธารณะ โรงแรมและมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยโตเกียวทำให้ช่วงกลางวันมีประชากรอยู่

“เราพยายามทำให้ 2 ส่วน คือ ส่วนอาศัยและส่วนพื้นที่เปิดโล่ง (Open Space) ให้เกิดการเชื่อมต่อเข้าออกของพื้นที่นั้นได้ ขณะที่การสร้างเมือง ก็ไม่ได้คิดแต่คิดเพียงแค่สร้าง สร้าง สร้าง แต่เห็นว่า ควรมีการแยกคาแรคเตอร์ของแต่ละส่วนออกมาให้แตกต่างเพื่อไม่ให้เมืองน่าเบื่อ ทั้งส่วนสำนักงาน ที่อยู่อาศัย มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ศูนย์สุขภาพและพื้นที่สีเขียว ทุกอย่างถูกสร้างอย่างมีแบบแผน”

เขา ย้ำว่า ขณะนี้เป็นช่วง 10 ปีแรกของการพัฒนาเท่านั้น เมืองแห่งนี้ใช้เวลาสร้างค่อนข้างยาวนานถึง 25 ปี ถึงจะเสร็จสมบูรณ์ และเพราะใช้เวลานานและมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ทำให้สามารถสร้างเมืองที่มีลักษณะพิเศษขึ้นมาได้ โดยเป้าหมายในปี 2573 จะมีประชากรรวมในเมืองราว 4-5 หมื่นคน และนักท่องเที่ยว 10 ล้านคนต่อปี

“ความท้าทายในการทำ ยากตรงที่ว่าเราจะทำอย่างไรให้ประชากร มีชีวิตที่ยั้งยืน รอบรับสังคมผู้สูงอายุได้อย่างไร เพราะไม่ใช่แค่คิดว่าจะ Smart City อย่างเดียว ต้องมองไปถึงเรื่องโรงพยาบาล สิ่งแวดล้อม การศึกษา นวัตกรรมและอุตสาหกรรมด้วย”

 

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก

 

ความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญที่ไทยยังไม่มี

ภารกิจในการสร้างเมืองใหม่ที่มีบรรยากาศสวยงาม อากาศดี เอื้อต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลาย เป็นถิ่นของอุตสาหกรรม เทคโนโลยีอันก้าวล้ำและมีที่อยู่อาศัยจำนวนมากในราคาเข้าถึงได้นั้น ลำพังความตั้งใจของภาคเอกชนอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะทำให้เมืองประสบความสำเร็จได้

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) พันธมิตรสำคัญของ มิตซุย ฟุโดซัง บอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศญี่ปุ่น ก็คือ ความสำเร็จในการสร้างเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทที่คิดจะสร้างหรือเม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่ยังต้องการกำลังความร่วมมือจากภาครัฐ มหาวิทยาลัย ประชากรและหน่วยงานท้องถิ่นด้วย

“เอกชนพร้อมพัฒนาเเละเเข่งขัน อยากทำโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่อันท้าทาย ถ้าภาครัฐสนับสนุน สมาร์ทซิตี้เกิดได้ต้องได้รับการผลักดันจากภาครัฐก่อน อาจเป็นหน่วยงานท้องถิ่นอย่าง เมืองสมุทรปราการ นนทบุรี ภูเก็ตหรือพัทยาก็น่าสนใจ ด้วยปัญหาความแออัด มิลพิษ รถติด สภาพแวดล้อมย่ำแย่ และสังคมผู้สูงอายุ ผมว่าถึงเวลาที่เราต้องจริงจังแล้ว”

บางเมืองยอมแพ้ บางเมืองจมอยู่กับที่ ขณะที่บางเมืองลุกขึ้นสู้พัฒนาตัวเอง คาชิวะ โนฮา แห่งญี่ปุ่นแสดงให้เห็นแล้วว่าวิสัยทัศน์และความร่วมมืออย่างจริงจังนั้นสำคัญขนาดไหน.

 

วิสัยทัศน์ญี่ปุ่น "คาชิวะ โนฮา" สมาร์ทซิตี้ของจริงไม่ใช่เเค่ลมปาก