posttoday

ลงทุนระบบราง กับการเปลี่ยนแปลง กทม.-ปริมณฑล

23 มีนาคม 2560

การลงทุนครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และประเทศไทย

โดย...วราพงษ์ ป่านแก้ว

ในช่วง 4-5 ปีนี้จะมีการลงทุนระบบรางครั้งใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ชาติไทย การลงทุนครั้งนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และประเทศไทย การพัฒนาจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างประชากร และการแข่งขันทางเศรษฐกิจในวันที่โลกไร้ซึ่งพรมแดน จะทำให้เมืองเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งในมุมของ นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องผังเมือง ได้มองการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้อย่างไร? 

ทิศทางของเมืองในอนาคตมีหลายปัจจัยที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ประการแรกต้องดูสิ่งที่จะเปลี่ยนขนานใหญ่ของไทยที่ชัดเจนมาก คือ การลงทุนระบบราง ทั้งรถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ และรถไฟฟ้าใน กทม. ซึ่งได้มีการเสนอ อนุมัติ และก่อสร้างโครงการในช่วงนี้หลายโครงการมาก ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเมือง และเรื่องของโครงสร้างการตั้งถิ่นฐานของประเทศ ตามการพัฒนาระบบรางที่จะเป็นตัวกระตุ้นการเติบโต

โครงสร้างของเมืองในอนาคตจะขยายตัวไปตามระบบราง อย่างเช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงแรกจากกรุงเทพฯ ไปถึงนครราชสีมา และจะขยายต่อไปถึงหนองคาย จะทำให้ นครราชสีมา ขอนแก่น และหนองคาย กลายเป็นเมืองที่ได้รับการกระตุ้นให้มีการเติบโตอย่างมาก ถ้าเทียบกับเมืองอื่นๆ ตามรายทางซึ่งจะมีการเติบโตที่ไม่เท่ากัน

นครราชสีมาจะเป็นจุดเปลี่ยนเส้นทางของอีสานตอนล่าง จะมีการเชื่อมต่อไปยังลาว กัมพูชา และเวียดนาม กลายเป็นจุดที่มีการเติบโตตามแนวระบบราง ซึ่งในอนาคตโครงสร้างการเติบโตของเมืองต่างๆ จะเปลี่ยนมีการเติบโตของเมืองที่ไม่เท่ากัน ตามตำแหน่งที่ตั้งสถานีของรถไฟความเร็วสูง และศักยภาพของแต่ละพื้นที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเติบโตของการตั้งถิ่นฐานในอนาคต

ส่วนอีกเส้นที่มีศักยภาพในการพัฒนา คือ รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เพราะมีความหนาแน่นสูง และผ่านพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น อีสเทิร์นซีบอร์ด พัทยา เป็นต้น ขณะที่สายเหนือและสายใต้ มีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างน้อย

สำหรับใน กทม.และปริมณฑลจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่โดยเฉพาะในเรื่องของรถไฟฟ้าที่กำลังพัฒนาอยู่หลายเส้นทางในขณะนี้ จะทำให้ในหลายๆ พื้นที่จะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเชื่อมต่อระบบรางหลายๆเส้นทางเข้าด้วยกัน ที่ชัดเจนมากๆ คือที่ศูนย์กลางบางซื่อ มักกะสัน วงเวียนใหญ่ จะเกิดจุดศูนย์รวม หรือแหล่งชุมนุมคน (Node) ขึ้นใน กทม. และปริมณฑล หรือในพื้นที่ที่รถไฟฟ้าออกไปชานเมืองถึงตรงไหนตรงนั้นก็จะกลายเป็น Node ของชานเมือง เช่น ลำลูกกา หรือ รังสิต เป็นต้น ดังนั้นจะเกิดภาพการเปลี่ยนของเมืองจะเกิดขึ้นในอนาคต

ในขณะเดียวกัน ประชากรในปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวะที่จะมีประชากรคงที่ และเริ่มที่จะลดลง ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของประเทศที่มีการวางแผนครอบครัวมาระยะหนึ่งประชากรก็จะเริ่มลดลง ทำให้จะเริ่มเห็นอีกภาพหนึ่งจากที่มีการอพยพเข้าในเมืองขนาดใหญ่ อีกสักระยะหนึ่งหลังจากผ่านช่วงที่ประชากรคงที่ การอพยพเข้าเมืองก็จะเริ่มลดน้อยลง และในที่สุดก็หยุดการเคลื่อนย้าย และในอนาคตอันไกลประชากรก็จะลดน้อยลงถ้าไม่มีนโยบายในการเพิ่มประชากร และทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง เช่น ในเรื่องของการขาดแคลนแรงงานทางเศรษฐกิจ ซึ่งยังจำเป็นที่จะต้องมีจำนวนคนที่จะขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ระบบรางที่กำลังพัฒนาไปนั้นจะอยู่ในช่วงพอดีกับช่วงการชะลอตัวของการเพิ่มประชากร และการลดลงของประชากร มันก็จะกลับไปสู่อีกระดับหนึ่ง คือ จะไม่มีการเติบโตขึ้นมารองรับมากนัก แต่จะเริ่มมีการปรับเปลี่ยนในเชิงคุณภาพที่มากขึ้นเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ คือ ในช่วงที่มีการเติบโตมากๆ ก็จะทำในเชิงปริมาณ บ้านปลูกเยอะๆ หน้าตาเหมือนๆ กัน ราคาถูกเหมือนๆ กัน แต่พอเริ่มฐานะดีขึ้น ความจำเป็นเริ่มน้อยมีลงก็จะหันไปทำในเชิงคุณภาพมากขึ้น เพราะการทำในเชิงปริมาณเริ่มเปล่าประโยชน์

ดังนั้นในอนาคตเราจะเริ่มแสวงหาคุณภาพในชีวิตเมืองมากขึ้น เมื่อเปลี่ยนมาเดินทางด้วยรถไฟฟ้าทำให้มีเวลาเหลือวันละ 1-2 ชั่วโมงในการทำอย่างอื่น ซึ่งเมื่อคนเริ่มมีฐานะดี รายได้ดีขึ้นแล้ว ก็จะไปสู่เรื่องของคุณภาพชีวิต เช่น การออกกำลัง หรือไปทานข้าวพบปะกับเพื่อน สังคมเมืองจะเปลี่ยนไป คนจะมีเวลาละเมียดกับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่มากขึ้น จากเดิมที่เสียเวลาไปกับการเดินทาง

เมื่อคุณภาพชีวิตเข้ามาสู่ในเมืองใหญ่มากขึ้นในขณะเดียวกัน การแข่งขันเชิงเศรษฐกิจจะพยายามดึงดูดการลงทุนเข้ามาในเมือง เพื่อทำให้เกิดการจ้างงาน ทำให้เกิดรายได้ จากเดิมที่เราอยู่ไปแบบแก้ปัญหาไปเรื่อย เมื่อความตึงเครียดในการแก้ปัญหาในเชิงปริมาณหมดไป จึงกลับมาให้ความสำคัญกับความสามารถในการแข่งขัน หาวิธีที่จะทำอย่างไรให้เมืองสามารถดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น และเกิดการจ้างงานที่มีคุณภาพ

ทั้งปัจจัยเรื่องระบบราง การเปลี่ยนของประชากร และเศรษฐกิจ จะทำให้เมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทย ขณะนี้ในทุกภูมิภาคก็พยายามที่จะปรับเปลี่ยนตามปัจจัยดังกล่าว รวมไปถึงอาเซียนซึ่งการมีการแข่งขันกันอยู่ในที อย่างไทยก็พยายามจะเชื่อมโยงกับประเทศที่มีพื้นที่ติดต่อกัน หรือที่เรียกว่า CLMV ประเทศที่อยู่ด้านล่างลงไปไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย ก็พยายามอยู่เช่นกัน แต่ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงที่ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบที่จะมีผลต่อการเติบโตของเมืองในอนาคตที่เป็นเงื่อนไขสำคัญในขณะนี้ คือเรื่องของภัยธรรมชาติ ที่นับวันจะรุนแรงและขยายวงมากขึ้นจากเดิมที่ไทยอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยจากภัยธรรมชาติต่างๆ แต่ปัจจุบันภัยธรรมชาติเริ่มมีเข้ามามากขึ้น ทั้งในเรื่องของภัยแล้งและน้ำท่วมที่จะรุนแรงขึ้นที่สะท้อนภาพได้ชัดเจนคือ น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 หรือน้ำท่วมใหญ่ที่ภาคใต้ซึ่งทำให้จีดีพีหายไปเป็น 10% ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบ ทั้งในเรื่องของการกำหนดพื้นที่ตั้งของเมือง พื้นที่เสี่ยงภัย เพราะหากเกิดปัญหาอยู่ซ้ำซาก ก็จะกลายเป็นเมืองที่ไม่สามารถแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจได้

ทั้งหมดคือ ปัจจัยบวกและลบที่จะเกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้