posttoday

ออฟฟิศ-ค้าปลีกยังรุ่งคอนโด รอลุ้นศก.ครึ่งปีหลัง

22 กรกฎาคม 2559

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ 3 ประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก

โดย...สุกัญญา สินถิรศักดิ์

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ 3 ประเภทที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน และพื้นที่ค้าปลีก และยังคงเป็น 3 ตลาดที่มีการขยายตัวแม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เพียงแต่อัตราการขยายตัวอาจลดลงบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดที่มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง รวมถึงยังเป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการใหม่เข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ส่วนผู้ประกอบการเดิมในตลาดก็ยังคงลงทุนต่อเนื่อง

สุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ในอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 3 ประเภท ตลาดอาคารสำนักงานยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีโอกาสดีสุด จากความต้องการพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้นของทั้งบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติ แม้ว่าเศรษฐกิจในเวลานี้อาจไม่ใช่ช่วงขาขึ้น แต่การเช่าพื้นที่อาคารสำนักงานของผู้ประกอบการล้วนมองว่าเป็นการลงทุนระยะยาว ซึ่งการที่ซัพพลายออฟฟิศใหม่ที่เข้าสู่ตลาดไม่มากนักกับความต้องการที่มีสูง จึงทำให้อัตราค่าเช่าปรับขึ้นได้ต่อเนื่อง

"ปัจจุบัน อาคารเกษร ทาวเวอร์ อาคารสำนักงานเกรดเอที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จประมาณปี 2560 คาดว่าจะมีอัตราค่าเช่าสูงสุดที่ 1,200 บาท/ตารางเมตร (ตร.ม.) ส่วนอาคารปาร์คเวนเชอร์ ซึ่งเคยเป็นออฟฟิศที่มีอัตราค่าเช่าสูงสุดนั้นมีผู้เช่าเต็มแล้ว จึงไม่มีพื้นที่ใหม่ๆ ที่จะขยับฐานค่าเช่าได้"

ทั้งนี้ การสำรวจตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ขณะนี้มีพื้นที่รวมทั้งหมด 8.33 ล้าน ตร.ม. โดยตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาถึงไตรมาส 2/2559 มีอาคารสำนักงานสร้างเสร็จเปิดให้บริการรวมทั้งหมด 2.66 แสน ตร.ม. และอีกมากกว่า 1.52 แสน ตร.ม. จะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังปี 2559 รวมถึงจะมีพื้นที่อาคารสำนักงานอีกไม่ต่ำกว่า 3 แสน ตร.ม. ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จราวปี 2560-2564

ขณะที่พื้นที่ค้าปลีกก็ขยายตัวอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเช่นกัน โดยพื้นที่รวมของโครงการพื้นที่ค้าปลีกในกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบ ณ ไตรมาส 2/2559 อยู่ที่ประมาณ 7.48 ล้าน ตร.ม. โดยมีพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 62,384 ตร.ม. เปิดให้บริการในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 และอีกมากกว่า 1.248 แสน ตร.ม. มีแผนจะเปิดให้บริการภายในครึ่งหลังปี 2559 แม้ว่าจะมีโครงการค้าปลีกจำนวนมากเปิดให้บริการ แต่อัตราการเช่าเฉลี่ยในทุกทำเลก็ยังคงมากกว่า 95% ขึ้นไป อาจจะมีคอมมูนิตี้มอลล์บางโครงการที่มีอัตราการเช่าค่อนข้างต่ำ

สำหรับโครงการศูนย์การค้าผู้ประกอบการหลายรายพยายามพัฒนาโครงการของตนเองให้เป็นจุดศูนย์รวมของทุกบริการเพื่อคนทุกเพศทุกวัย ทำให้โครงการค้าปลีกส่วนใหญ่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างในเวลานี้ หรือกำลังจะเริ่มในอนาคตหลายโครงการมีขนาดใหญ่ พื้นที่ทั้งโครงการมากกว่า 5 หมื่น ตร.ม. รูปแบบห้างสรรพสินค้าและเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (โรงหนังสแตนด์อะโลน) ชะลอการขยายตัวมาหลายปีแล้ว เพราะไปเปิดอยู่ในศูนย์การค้า ส่วนคอมมูนิตี้มอลล์ก็เริ่มขยายตัวลดลงต่อเนื่อง

ด้านตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ คาดว่าทั้งปีจะมีจำนวนยูนิตเปิดใหม่ 3.5 หมื่นยูนิต โดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะเร่งเปิดตัวในครึ่งปีหลัง แต่ผู้ประกอบการจะเปิดโครงการใหม่ได้ตามเป้าหรือไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังซื้อครึ่งปีหลัง ซึ่งจะล้อไปกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศและการลงทุนโครงการต่างๆ ของรัฐบาลที่จะช่วยกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นของคนไทยมากขึ้นได้หรือไม่ จาก 6 เดือนแรกที่ผ่านมามีคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพฯ เพียง 14,453 ยูนิต ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 34%

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีหลัง อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มออฟฟิศ-ค้าปลีกยังไปได้สวย ส่วนคอนโดมิเนียมคงต้องลุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภคว่าจะฟื้นกลับมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ได้หรือไม่