posttoday

เวอร์ติคอลซิตี้ ออฟฟิศ โอกาสเจาะมนุษย์เงินเดือน

25 มิถุนายน 2559

คนทำงานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายจากเดิมทำงานอย่างหนัก ใช้ชีวิตหลังเลิกงานให้หนัก(Work Hard Play Hard) มาสู่การใช้ชีวิตทำงานอย่างสมดุลย์ (Work-Life Balance)

โดย...รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย

คนทำงานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะกลุ่มเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวายจากเดิมทำงานอย่างหนัก ใช้ชีวิตหลังเลิกงานให้หนัก(Work Hard Play Hard) มาสู่การใช้ชีวิตทำงานอย่างสมดุลย์ (Work-Life Balance) ส่งผลให้เกิดเทรนด์เวอร์ติคอล ออฟฟิศ (Vertical City Office) หรือตึกออฟฟิศบิวดิ้งต้องมีสินค้าและการบริการที่ครบครันสนองความต้องการคนทำงาน

นิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ กรรมการบริหารและหัวหน้าแผนกพื้นที่สำนักงานซีบีอาร์อี เปิดเผยว่า การเกิดเวอร์ติคอลซิตี้ ออฟฟิศ ในต่างประเทศถือว่ามีมานานแล้ว แต่สำหรับในไทยค่อยๆ เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อรองรับกับไลฟ์สไตล์ของคนไทยเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ และโดยเฉพาะกลุ่มคนเจเนอเรชั่นวายที่มีไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนกับการใช้ชีวิตทำงานให้บาลานซ์ ประกอบกับแนวคิดเจ้าของธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป มีทัศนคติว่าหากพนักงานในองค์กรได้ทำงานในสถานที่ที่ครบวงจร จะช่วยสร้างอารมณ์ที่ดีและทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อาคารสำนักงานในไทยจึงเริ่มสร้างให้เป็นแหล่งช็อปปิ้งขนาดย่อมๆ จำนวนมาก มีทั้งร้านค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม คลินิกสุขภาพและความงาม ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและกาแฟ ธนาคาร ร้านจำหน่ายดอกไม้หรือของขวัญ หรือกระทั่งฟิตเนส ไว้รองรับชีวิตหลังเลิกงานหรือระหว่างการทำงาน ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสการทำตลาดของสินค้า เพราะกลุ่มวัยทำงานมีกำลังการซื้อที่ดีและยอมจ่ายเงินเพื่อดูแลตัวเองยิ่งขึ้น

“แนวโน้มความต้องการอาคารสำนักงานในรูปแบบนี้จะมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่า บริเวณที่เป็นใจกลางเมืองใหญ่ๆ อาทิ สาทร สีลม ถนนวิทยุ ภายในอาคารจะมีสินค้าที่ตอบโจทย์วัยทำงานอย่างครบวงจร ทำให้เกิดการเช่าสำนักงานเกือบ 100% ซึ่งอาคารเกิดใหม่อย่าง สาทรสแควร์ ปาร์คเวนเชอร์ ก็ออกแบบมาเพื่อรองรับกับความต้องการของผู้เช่าตึกโดยเฉพาะ” นิธิพัฒน์ กล่าว

ในมุมมองกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเชื่อว่าการเกิดเวอร์ติคอลซิตี้ ออฟฟิศ จะกลายเป็นคู่แข่งทางอ้อมของศูนย์การค้าอย่างแน่นอน โดย ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แนวโน้มในต่างประเทศการสร้างอาคารสำนักงานมีครบวงจร แม้กระทั่งโรงภาพยนตร์ยังมี จึงเชื่อว่าเวอร์ติคอล ซิตี้ ออฟฟิศ จะกลายเป็นคู่แข่งกลุ่มธุรกิจค้าปลีก เพราะคนทำงานไม่มีเวลาไปเดินห้างสรรพสินค้าเหมือนกลุ่มอื่นๆ จึงใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารหลังเลิกงาน เช่น การซื้อสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันก็ถือว่าเป็นคู่แข่งกับซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว

ทั้งนี้ จะเริ่มเห็นอาคารสำนักงานสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มคนทำงาน เพราะคนทำงานยุคนี้ไม่ได้ต้องการทำงานสุดขั้ว ในช่วงเวลาพักใช้เวลาช็อปปิ้ง อย่างการสร้างเซ็นทรัล พลาซ่า เวสต์เกต ที่ย่านบางใหญ่ ในอนาคตก็ต้องสร้างอาคารสำนักงานเชื่อมต่อกับศูนย์การค้า เพื่อสร้างทราฟฟิกหรือปริมาณคนหมุนเวียน ก็เป็นโมเดลเดียวกับเซ็นทรัลเวิลด์ที่มีการเชื่อมทั้งศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน

อย่างไรก็ตาม นอกจากเกิดเทรนด์การสร้างสำนักงานครบวงจรแล้วในต่างประเทศยังเกิดเทรนด์การเวอร์ติคอลซิตี้ โฮเทล หรือการสร้างโรงแรมที่มีบริการครบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นแหล่งช็อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม ฟิตเนส อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในฮ่องกง ซึ่งล้วนแต่ถือว่าเป็นคู่แข่งกับธุรกิจค้าปลีกแทบทั้งสิ้น

พัชยา รัมมณีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ็ทส์ (ประเทศไทย) ผู้ดำเนินธุรกิจฟิตเนสเจ็ทส์ กล่าวว่า บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ ได้สร้างตึกเอฟวายไอ เซ็นเตอร์ คอนเซ็ปต์” ทำงาน ที่กิน ที่เล่น ที่สร้างแรงบันดาลใจ” หรือเป็นเวอร์ติคอล เซ็นเตอร์ ออฟฟิศ อีกทั้งยังมีแนวคิดจะทำอาคารสำนักงาน 24 ชั่วโมง ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ก็รองรับกับกลุ่มอาชีพที่ทำงานไม่เป็นเวลา อาทิ พนักงานสายการบินสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจของเจ็ทส์ฟิตเนสที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้กลุ่มวัยทำงานถือว่าเป็นฐานลูกค้าหลักของธุรกิจฟิตเนสมีสัดส่วนถึง 60-70% และยังมีความถี่การออกกำลังกายสูงโดยเฉลี่ย 3 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าไปเปิดบริการ

ด้านกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเพื่อสุขภาพและความงาม เบญจมาศ ต้องประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ซูรูฮะ กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าทำงานในออฟฟิศถือว่ามีกำลังการซื้อสูง ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไม่มากนัก ถือว่าเป็นฐานลูกค้าที่มีศักยภาพ การเปิดดรักสโตร์ที่ออฟฟิศทำให้บริษัทได้ฐานลูกค้าเป็นขาประจำ ทำให้สามารถศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าและรู้ถึงความต้องการและสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับร้านค้าแตกต่างจากศูนย์การค้าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นขาจรไปมา 

นอกจากนี้ เป็นกลุ่มที่มีความรู้ไม่ต้องป้อนข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ใช้ชีวิตกับการทำงานและไม่มีเวลาช็อปปิ้งตามห้าง การซื้อสินค้าโดยเฉลี่ยจำนวนไม่มากแต่มีความถี่ซื้อสูง การแข่งขันยึดพื้นที่โซนออฟฟิศส่วนใหญ่หากมีคู่แข่งเปิดแล้วก็จะไม่มีแบรนด์อื่นมาเปิด เพราะปริมาณคนที่อยู่ในตึกออฟฟิศไม่ได้มีสูงมาก สำหรับซูรูฮะ มีสาขาในออฟฟิศ 7-8 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วน 25% จากที่มีทั้งหมด 22 สาขา สินค้าที่จำหน่ายดี คือ อาหารเสริม ตามด้วยเครื่องสำอางและยา

จากไลฟ์สไตล์กลุ่มทำงานที่เปลี่ยนไป ยอมจ่ายเงินเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เวอร์ติคอลซิตี้ ออฟฟิศ จึงเป็นโอกาสทางการตลาดที่ไม่ควรมองข้ามไป