posttoday

หนี้ครัวเรือนพุ่งแบงก์เข้มปล่อยสินเชื่อ

23 พฤษภาคม 2559

สถาบันการเงินคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อสำหรับคนที่กู้ซื้อบ้านใหม่ ส่งผลให้ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้น

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

จากสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้รายจ่ายภาคครัวเรือนสูงขึ้น ขณะที่รายได้ประจำกลับสวนทาง จึงทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้สถาบันการเงินคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อสำหรับคนที่กู้ซื้อบ้านใหม่ ส่งผลให้ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น อยู่ในระดับ 20-30%

ทั้งนี้ เห็นได้จากข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อย่างบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จะพบว่า จำนวนลูกค้าที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อในไตรมาสแรกปี 2559 อยู่ที่ 9.8% โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าคอนโดมิเนียมขยับมาอยู่ที่ 3.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 1.4% ขณะที่จำนวนลูกค้าที่ยกเลิกสัญญาจองบ้านแนวราบที่ทำกับโครงการเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปีก่อน อยู่ที่ 23.8% มาไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 26.1%

ด้าน บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินกับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยของบริษัทเพิ่มสูงขึ้น จากปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 10% แต่ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ขยับมาอยู่ที่ 20-30% แล้ว

สมนึก ตันฑเทอดธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่ง กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงมีอยู่สูง จึงทำให้ลูกค้าไม่สามารถขอสินเชื่อได้ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจประเภทเอสเอ็มอี และลูกค้ากลุ่มนี้เมื่อสถาบันการเงินให้เงินกู้ได้ไม่เต็มวงเงิน ก็จะไม่ยอมกู้เงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในเวลานี้ ทำให้บริษัทจึงต้องนำบ้านที่ลูกค้าจองไว้กลับมาทำการตลาดใหม่หลายรอบ

อิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินยังเพิ่มสูง โดยเฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งบางสถาบันการเงินจะไม่ยอมปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีแบงก์พาณิชย์ออกมาแข่งขันเพื่อเร่งปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ากลุ่มอาชีพอยู่

ขณะที่ตัวเลขการปล่อยกู้สินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556 ตัวเลขการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ อยู่ที่ 5.34 แสนล้านบาท ส่วนปี 2557 อยู่ที่ 5.75 แสนล้านบาท และปี 2558 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 5.77 แสนล้านบาท

“ที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อให้กับภาคอุตสาหกรรมมีไม่สูงนัก ทำให้สถาบันการเงินหันมาปล่อยสินเชื่อบ้านมากขึ้น เนื่องจากปลอดภัยกว่าเพราะมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน จึงทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตสูงขึ้น แต่การให้สินเชื่อส่วนใหญ่จะไปอยู่กับกลุ่มระดับกลาง-บน ราคา 5 ล้านบาทขึ้นไปมากขึ้น” อิสระ กล่าว

สำหรับบริษัทมีตัวเลขการปฏิเสธสินเชื่อของสถาบันการเงินเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 11-12% ล่าสุดบริษัทได้แก้ปัญหาด้วยการขายบ้าน 1 หลัง แต่จะให้ลูกค้าสามารถจองพร้อมกันได้ 2-3 รายเฉพาะในกลุ่มบ้านที่ก่อสร้างใกล้เสร็จ โดยลูกค้าจะต้องพรีแอพปรู๊ฟให้เสร็จภายใน 7 วัน หากลูกค้ารายไหนมีความสามารถขอสินเชื่อได้ก่อนก็จะได้บ้านหลังนั้นไปก่อน

ขณะเดียวกันบริษัทจะดูความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่จะซื้อก่อน โดยจะไม่สร้างบ้านให้แล้วเสร็จออกมาจำนวนมาก อีกทั้งที่ผ่านมาผู้ซื้อบ้านก็พยายามปรับตัวด้วยการหันมาซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาถูกลง จากปี 2557 ลูกค้าส่วนใหญ่จะซื้อบ้านราคาเฉลี่ย 2.95 ล้านบาท ในปี 2558 ราคาซื้อบ้านเฉลี่ยมาอยู่ที่ 2.59 ล้านบาท

อธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า การที่ตัวเลขปฏิเสธการขอสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังสูงอยู่นั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้ผู้กู้ที่มีประวัติติดเครดิตบูโรต้องมีประวัติคงอยู่ในระบบนาน 3 ปี แม้ว่าจะมีการชำระหนี้ทั้งหมดแล้วก็ตาม โดยเฉพาะกลุ่มหนี้บัตรเครดิต ดังนั้นหากลูกค้ารายใดสามารถชำระหนี้ได้หมดแล้วก็ควรลบประวัติการติดเครดิตบูโร หรือให้ลดลงเหลือ 1 ปี ก็พอ

“ที่ผ่านมา สมาคมได้มีการเข้าไปเจรจากับทางแบงก์ชาติว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดีน่าจะต้องมีการผ่อนปรนเกณฑ์ของเครดิตบูโร โดยเฉพาะผู้ที่เคยมีประวัติหนี้เสียติดค้างชำระหนี้กับสถาบันการเงิน หากมีการผ่อนชำระได้หมดแล้วก็ควรจะให้เขากลับมาทำธุรกรรมต่างๆ ได้เป็นปกติ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง เพราะในเวลานี้แม้จะมีการลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่กำลังซื้อก็ไม่ได้ฟื้นกลับคืนมาได้ง่าย” อธิป กล่าว

นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐนั้นยังจำเป็นอยู่มาก โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ควรจะออกมาอีก รัฐบาลอย่ามองเพียงบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่มีผลประกอบการที่ดี ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายขนาดเล็กในภูมิภาคอยู่ในภาวะย่ำแย่อย่างมาก และกำลังซื้อผู้บริโภคไม่ฟื้นตัว หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะยิ่งลุกลาม

ในส่วนของผู้ประกอบการหลายรายได้พยายามดึงสถาบันการเงินมาเป็นพันธมิตร เพื่อมาช่วยตรวจความสามารถในการกู้ ถือเป็นการลดความเสี่ยงในการคัดกรองกลุ่มคนซื้อ และช่วยสื่อสารกับลูกค้าให้เตรียมตัวกู้หรือแนะนำให้ลูกค้าต้องหาผู้กู้ร่วม ฝั่งผู้ประกอบการก็ปรับรูปแบบการทำตลาดใหม่หากลูกค้ากู้ไม่ผ่านก็ต้องรีบกลับมาทำตลาดใหม่ รวมถึงพยายามขยายตลาดไปเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บนเพิ่มมากขึ้น 

ญนน์ โภคทรัพย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การปล่อยสินเชื่อในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ยังเป็นไปตามเป้า แต่บ้านระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีลูกค้ามาขอสินเชื่อแล้วไม่ผ่านอนุมัติจำนวนมาก เนื่องจากติดปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงกว่า 80% ของจีดีพี ส่วนบ้านระดับราคา 3 ล้านบาทขึ้นไป การอนุมัติสินเชื่อยังเป็นปกติ

อลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อธุรกิจขนาดย่อม ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ขณะนี้ธนาคารระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าบ้านเก่าและคอนโดมิเนียมมือสองราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งสูง ทำให้ที่ผ่านมากู้ไม่ผ่านถึง 50% ประกอบกับการปล่อยกู้บ้านเก่ามีความเสี่ยงสูงกว่าบ้านใหม่เพราะบ้านเก่าจะมีค่าเสื่อม

จนถึงขณะนี้ ทั้งผู้ประกอบการและสถาบันการเงินต้องกลับมาคุมเข้ม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนจนทำให้การปฏิเสธสินเชื่อกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งภาครัฐเร่งเดินหน้าโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยอย่างบ้านประชารัฐออกมา ก็อาจจะยิ่งสร้างปัญหาหนี้ในระบบให้พอกพูนขึ้นก็เป็นไปได้

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ