posttoday

จุฬาฯโมเดล สูตรมหาวิทยาลัยดันเมืองโต

18 พฤษภาคม 2560

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นต้นแบบโมเดลของกลุ่มสถานศึกษาที่ดันพื้นที่รอบข้างเติบโต

 

 

โดย...โชคชัย สีนิลแท้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับเป็นต้นแบบโมเดลของกลุ่มสถานศึกษาที่ดันพื้นที่รอบข้างเติบโต ทำให้เกิดเมืองขนาดย่อมๆ ในพื้นที่เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ สถาบันกวดวิชา อพาร์ตเมนต์ หอพัก คอนโดมิเนียม หรือแม้แต่โฮสเทลใกล้โรงเรียนกวดวิชา

ในยุคแรกเริ่มพื้นที่รอบจุฬาฯ มีพื้นที่เชิงพาณิชย์หลักๆ เช่น ศูนย์การค้าเอ็มบีเค (เดิมชื่อห้างมาบุญครอง) สยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ ชุมชนค้าขายขนาดใหญ่ และโรงเรียนกวดวิชาชื่อดัง ล้วนเกิดขึ้นบนพื้นที่นี้ จนเมื่อพื้นที่บริเวณนี้ขยายตัวกลายเป็นเมืองย่อมๆ ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของกรุงเทพฯ ทำให้พื้นที่รอบจุฬาฯ กลายเป็นแหล่งช็อปปิ้งชั้นนำ ภาพของพื้นที่โดยรอบจุฬาฯ และสยามก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป

 

 

จุฬาฯโมเดล สูตรมหาวิทยาลัยดันเมืองโต

ขณะที่ทางสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทยอยนำพื้นที่เดิมที่เคยปล่อยเช่าให้กับรายย่อยคืนเพื่อปรับโฉมใหม่ให้กับพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย ตั้งแต่สวนหลวงสามย่านถึงสยามสแควร์ โดยผสมผสานระหว่างพื้นที่การศึกษา พื้นที่เชิงพาณิชย์ พื้นที่เพื่อการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ซึ่งจะเห็นว่าในโซนที่เป็นไข่แดงอย่างสยามสแควร์ ก็จะเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่จะเริ่มเห็นร้านค้าใหม่ๆ และในอนาคตยังจะมีอาคารจอดรถ เพื่อยกคุณภาพพื้นที่ถนนให้คนได้เดินอย่างปลอดภัย

 

ทั้งนี้ โซนสวนหลวงสามย่าน ก่อนหน้านี้ก็มีการพัฒนาไปบ้างแล้ว เช่น ตลาดสามย่านใหม่ โครงการแอมพาร์ค รวมไปถึงมีที่ดินแปลงใหญ่กว่า 13 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนพระราม 4 พญาไท ที่บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ ได้สิทธิในการพัฒนาเป็นโครงการภายใต้ชื่อ สามย่านมิตรทาวน์ โครงการมิกซ์ยูสที่ประกอบด้วย อาคารสำนักงาน ที่พักอาศัย และพื้นที่เชิงพาณิชย์ มูลค่าโครงการ 8,500 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563 จะเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญของพื้นที่ย่านนี้

จุฬาฯโมเดล สูตรมหาวิทยาลัยดันเมืองโต

นอกจากนี้ ยังได้นำพื้นที่ด้านหลังโครงการสามย่านมิตรทาวน์มาพัฒนาต่อเนื่องทั้งพื้นที่สีเขียวอย่างอุทยาน 100 ปี พื้นที่การเรียนรู้ใหม่ๆ รวมถึงพื้นที่บริเวณหัวมุมเจริญผล-พระราม 1 ที่เตรียมพัฒนาเป็น สเตเดี้ยม วัน ย่านกีฬาเพื่อให้สอดรับกับกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมในย่านพื้นที่บริเวณนี้ที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับกีฬา คาดว่าจะพร้อมเปิดบริการปลายปี 2560 นี้ หากทุกพื้นที่ได้รับการพัฒนาครบจะเห็นพัฒนาการของเมืองย่อมๆ รอบมหาวิทยาลัยแห่งนี้เปลี่ยนไป

รศ.มานพ พงศทัต อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้จุฬาฯ อยู่ระหว่างการปรับมาสเตอร์แพลนใหม่ ซึ่งดำเนินการทุก 5 ปี เพื่อเปิดพื้นที่เมืองใหม่รอบมหาวิทยาลัยซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี หลังจากที่มหาวิทยาลัยได้ทีมผู้บริหารใหม่ทั้งอธิการและรองอธิการบดี ที่ต้องการเร่งสปีดให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่การพัฒนาโครงการมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทนั้น จะต้องเข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐกับเอกชน และต้องมีความชัดเจนในเรื่องแหล่งเงินทุน เนื่องจากที่ผ่านมารูปแบบการทำงานของมหาวิทยาลัยนั้นค่อนข้างอนุรักษนิยม

จุฬาฯโมเดล สูตรมหาวิทยาลัยดันเมืองโต

“จุฬาฯ ในเวลานี้ต้องการทำให้เกิดเมืองใหม่ หรือยูนิเวอร์ซิตี้ ถือว่าเป็นโมเดลที่หลายมหาวิทยาลัย รวมถึงผู้ประกอบการพยายามใช้โมเดลรูปแบบดังกล่าวมาใช้ให้พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยเติบโต เกิดการพัฒนาไปสู่พื้นที่รอบข้าง ซึ่งการพัฒนาในแต่ละมหาวิทยาลัยนั้นมีรูปแบบที่แตกต่างกัน หากรายใดมีมาสเตอร์แพลนจะทำให้เกิดแนวทางพัฒนาที่ชัดเจน” รศ.มานพ กล่าว

สำหรับเมืองรอบมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่อย่างเห็นได้ชัดในเวลานี้คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยใหม่ บริเวณถนนสาย 345 ซึ่งเพิ่งเปิดถนนหอการค้าไทย โดยเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค มีที่ดินในบริเวณดังกล่าวกว่า 900 ไร่ ซึ่งได้ขายที่ดินให้มหาวิทยาลัยฯ พร้อมกับแบ่งขายที่ดินรอบมหาวิทยาลัยให้กับบริษัทอสังหาฯ ใหญ่ 3 ราย ได้แก่ แสนสิริ พฤกษา และเอสซี มูลค่ารวมกันกว่าหมื่นล้านบาท

แน่นอนว่า คงไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ก็ต้องเกิดขึ้นตามมาเพื่อรองรับการอยู่อาศัยและกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย