posttoday

ปรับปรุงบ้านรับหน้าร้อน ให้อยู่เย็นอย่างเป็นสุข

22 มีนาคม 2560

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดย...ทีมข่าวอสังหาริมทรัพย์โพสต์ทูเดย์

ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา จากการประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยอุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าสู่ช่วงร้อนที่สุดตั้งแต่วันที่ 20 เม.ย.ไปจนถึงวันที่ 6 พ.ค. อุณหภูมิเฉลี่ยจะพุ่งสูงถึง 42-43 องศาเซลเซียส ส่วนในกรุงเทพฯ อากาศจะร้อนถึง 40 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

สภาพอากาศที่ร้อนขนาดนี้หากบ้านพักอาศัยไม่ได้มีการรองรับกับความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้น การอยู่อาศัยคงไม่อยู่ในสภาวะสบาย ทำให้ต้องพึ่งพาเครื่องปรับอากาศเสียค่าใช้จ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย การปรับปรุงหรือสร้างบ้านในยุคที่โลกร้อนขึ้นทุกวันจึงควรให้ความสำคัญกับการป้องกันความร้อนที่จะเข้าสู่ตัวบ้านเป็นอันดับต้นๆ

ชัยทัต ศรีสุดาวรรณ ผู้เชี่ยวชาญจากวัสดุก่อสร้างเอสซีจี กล่าวว่า การเลือกวัสดุในการสร้างบ้าน หรือปรับบ้านให้เย็นสบายไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก โดยเฉพาะปัจจุบันนี้มีนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างหลากหลายรูปแบบที่มีคุณสมบัติช่วยป้องกันความร้อน ซึ่งเจ้าของบ้านสามารถเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้กับบ้านของตัวเองได้ จึงขอแนะนำวิธีการเลือก 3 วัสดุที่ช่วยทำหน้าที่ลดความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านดังนี้

ฉนวนกันความร้อนนับเป็นปราการด่านแรกที่นอกจากจะช่วยสกัดกั้นความร้อนจากหลังคาไม่ให้ถ่ายเทมาสู่ภายในบ้านแล้วยังสามารถสะท้อนรังสีความร้อนได้ถึง 95% ฉนวนกันความร้อนสามารถติดตั้งได้ตั้งแต่บริเวณใต้หลังคา บนฝ้าเพดาน และภายในผนังบ้าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ความร้อนจะส่งผ่านเข้าสู่ตัวบ้านโดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกในช่วงบ่ายจะเป็นเวลาที่ร้อนที่สุด ดังนั้นจึงควรติดตั้งฉนวนกันความร้อนสำหรับผนังเพื่อช่วยสกัดกั้นความร้อนที่จะแผ่เข้ามาด้วย

เคล็ดลับในการเลือกใช้ฉนวนคือ ควรเลือกฉนวนที่มีคุณสมบัติ ค่าการต้านทานความร้อนสูง (ค่า R) ค่าการนำพาความร้อนต่ำ (ค่า K) รวมไปถึงความหนาของฉนวนก็มีผลต่อการป้องกันความร้อนเช่นกัน เพราะฉนวนที่มีความหนามาก ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการกันความร้อนได้ดีกว่าฉนวนที่มีความหนาน้อย

สำหรับบ้านชั้นเดียวแนะนำให้ใช้ฉนวนกันร้อนขนาด 6 นิ้ว ที่สามารถกันความร้อนได้ดีถึง 4 เท่า และบ้าน 2 ชั้นทั่วไป สามารถติดตั้งฉนวนที่มีความหนา 3 นิ้วได้ตามปกติ ซึ่งสามารถกันความร้อนได้ดีถึง 4 เท่า และยังสามารถช่วยให้ประหยัดไฟได้ถึง 47% เมื่อเทียบกับบ้านที่ไม่ได้ติดฉนวน นอกจากนี้ควรเลือกประเภทที่ผลิตจากใยแก้ว เพราะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญยังเป็นวัสดุไม่ลามไฟอีกด้วย

ปรับปรุงบ้านรับหน้าร้อน ให้อยู่เย็นอย่างเป็นสุข

ฝ้าชายคา และฝ้าภายในบ้าน เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้บ้านเย็น เคล็ดลับในการเลือกฝ้า คือเลือกฝ้าที่มีค่าการนำความร้อนต่ำ และมีความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนน้ำและทนชื้นได้ดี ไม่มีใยหินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สำหรับภายนอกบ้านแนะนำให้เลือกใช้ฝ้าชายคาที่มีรูหรือช่องให้อากาศระบายผ่านเข้าออกได้ เพื่อรับลมเย็นและระบายความร้อนที่สะสมใต้โถงหลังคาที่โดนแดดมาตลอดทั้งวัน ปัจจุบันมีฝ้ารุ่นใหม่ที่มีรูระบายอากาศสำเร็จจากโรงงานและมีตาข่ายไฟเบอร์กลาสคุณภาพสูงที่ช่วยระบายความร้อน ติดตั้งง่ายและป้องกันแมลงเข้าสู่ตัวบ้านเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เจ้าของบ้านนำไปช่วยลดความร้อนให้กับบ้าน

สำหรับความร้อนบางส่วนที่ยังหลงเหลืออยู่ภายใต้โถงหลังคา ฝ้าภายในบ้านเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่สกัดกั้นความร้อนเข้าสู่ภายในห้องได้ จึงควรเลือกใช้ฝ้าที่กันความร้อนได้ดีหรือมีค่าการนำพาความร้อนต่ำ เพื่อช่วยกันความร้อนจากโถงหลังคาเข้าสู่ตัวบ้าน ส่วนเจ้าของคอนโดมิเนียมและทาวน์เฮาส์สามารถเลือกใช้ฝ้าทีบาร์ ที่สามารถเปลี่ยนได้ง่าย และใช้ร่วมกับฉนวนกันความร้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดร้อนให้บ้าน

ผนัง หรือตัวบ้าน เป็นอีกหนึ่งส่วนของบ้านที่ต้องปะทะแสงแดดตลอดทั้งวัน ทำให้เกิดการสะสมความร้อนสูง จึงเป็นส่วนสำคัญของบ้านที่ควรป้องกันความร้อน ควรเลือกใช้วัสดุที่ไม่สะสมความร้อนอย่างอิฐมวลเบา เนื่องจากอิฐมวลเบามีลักษณะเป็นฟองอากาศ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นฉนวนกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถกันความร้อนได้ดีกว่าอิฐมอญ 4-8 เท่า และมีน้ำหนักเบากว่าอิฐมอญ 2 เท่า จึงช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า 30%

การเลือกอิฐมวลเบา ควรเลือกวัสดุจากผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีความแข็งแรง ไม่เปราะ เนื้อวัสดุมีการกระจายตัวของฟองอากาศอย่างสม่ำเสมอและเป็นระเบียบ เจ้าของบ้านหลายคนอาจกังวลในเรื่องของความแข็งแรงของอิฐมวลเบาที่มีเนื้อวัสดุเป็นฟองอากาศกระจายตัว ซึ่งเนื้อวัสดุที่เป็นฟองอากาศเหล่านี้ไม่ได้มีลักษณะเป็นรูพรุนที่ทะลุถึงกันหรือรูกลวง แต่เป็นฟองอากาศขนาดเล็กที่กระจายตัวอย่างสม่ำเสมอและเป็นระเบียบ ซึ่งเป็นตัวช่วยป้องกันความร้อนเข้าสู่ตัวบ้านอย่างดี เพราะช่องอากาศจะทำหน้าที่ลดทอนพลังงานความร้อนเอาไว้ไม่ให้ผ่านจากภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านได้ และมีความแข็งแรงสามารถรับแรงกดหรือแรงอัดได้เป็นอย่างดี

นี่คือส่วนหนึ่งของการปรับปรุงบ้านด้วยวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ให้อุณหภูมิเย็นลง เพื่อให้หน้าร้อนนี้จะได้อยู่เย็นอย่างเป็นสุข

บ้านต้นแบบประหยัดพลังงาน

สำหรับคนที่ต้องการจะสร้างบ้าน ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ออกแบบบ้านมาไว้ให้บริการไม่ว่าจะเป็นกรมโยธาธิการและผังเมือง หรือกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ยังได้ออกแบบ "บ้านต้นแบบดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน" ซึ่งเป็นแบบบ้านประหยัดพลังงาน 12 แบบ ให้กับประชาชนหรือผู้ประกอบการนำไปเป็นแนวทางการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ซึ่งเป็นแบบบ้านต้นแบบที่มีการออกแบบสวยงาม ทันสมัย และประหยัดพลังงาน คาดว่าด้วยแนวคิดและวิธีการออกแบบจะสามารถประหยัดค่าไฟได้ถึง 20-50% สามารถดาวน์โหลดแบบบ้านได้ที่เว็บไซต์ของกรม หรือที่ www.arch.kmitl.ac.th/dede/