posttoday

'โครงสร้างบ้าน' เลือกแบบไหนดี?

22 กุมภาพันธ์ 2560

ท่านผู้อ่านที่กำลังศึกษาหรือหาข้อมูลเรื่องการสร้างบ้าน โดยเฉพาะว่าด้วยเรื่องโครงสร้างหลักของบ้าน

โดย...สิทธิพร สุวรรณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

ท่านผู้อ่านที่กำลังศึกษาหรือหาข้อมูลเรื่องการสร้างบ้าน โดยเฉพาะว่าด้วยเรื่องโครงสร้างหลักของบ้าน อันได้แก่ เสา-คาน-พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ในปัจจุบันผู้ประกอบการหรือผู้ให้บริการรับสร้างบ้าน ได้นำเสนอเป็นทางเลือกให้ผู้อ่านเลือกใช้ระบบก่อสร้างบ้าน โดยทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 แบบหลักๆ “โครงสร้างสำเร็จรูป” และ “โครงสร้างหล่อในที่”

สำหรับ “โครงสร้างสำเร็จรูป” ในที่นี้ผู้เขียนหมายความถึง โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งผู้ประกอบการทำการผลิตขึ้น ณ โรงงานแล้ว นำมาประกอบหรือติดตั้ง ณ สถานที่ก่อสร้างภายหลัง ส่วน “โครงสร้างหล่อในที่” คือ โครงสร้างที่ผู้ประกอบการผลิตหรือก่อสร้างขึ้น ณ สถานที่ก่อสร้างนั้นๆ ตามที่เราพบเห็นกันทั่วไป เริ่มตั้งแต่การผูกเหล็ก ประกอบไม้แบบ (แบบเหล็ก) และเทคอนกรีต

หากผู้อ่านที่เคยมีประสบการณ์ได้พูดคุยกับพนักงานขายของผู้ให้บริการรับสร้างบ้านมาก่อน คงจะเคยได้ยินคำบอกเล่าหรือการนำเสนอให้ฟังว่าโครงสร้างสำเร็จรูป ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ ฯลฯ กันมาบ้างพอสมควร ผู้เขียนเองเชื่อว่าท่านเองก็คงจะมีจิตใจเอนเอียง และเชื่อตามคำบอกเล่าของพนักงานขายที่ได้พูดคุยด้วยไปบ้าง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะท่านอาจไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงมาก่อน

สาเหตุหลักๆ ที่โครงสร้างคอนกรีตสำเร็จรูป โดนกล่าวหาไปในทำนองนั้นก็เพราะว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 90 ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านใช้วิธีการก่อสร้างที่เรียกว่า “โครงสร้างหล่อในที่” ในขณะที่มีผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายในธุรกิจรับสร้างบ้านที่ใช้ “โครงสร้างสำเร็จรูป” หากจะถามว่าถ้าโครงสร้างสำเร็จรูป...ดีจริง แล้วทำไม? จึงไม่ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ คำตอบก็คือ 1.มุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการเอง และ 2.ข้อจำกัด ซึ่งอธิบายโดยสังเขปได้ ดังนี้

1.มุมมองและวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการเอง ในที่นี้ขอยกตัวอย่างบางประเด็น เช่น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าการผลิต “โครงสร้างสำเร็จรูป” มีต้นทุนต่อหน่วยสูงกว่า (เพราะมิได้พิจารณาแบบองค์รวม) อีกประเด็นคือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเคยชินกับวิธีการก่อสร้างแบบเดิมๆ และไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงหรือวิธีก่อสร้างใหม่ๆ เพื่อจะแก้ไขปัญหาแรงงานและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง (ทั้งๆ ที่เผชิญกับปัญหาแรงงานขาดแคลนมาโดยตลอด) ประเด็นสุดท้ายเป็นเพราะเชื่อว่าผู้บริโภคยังไม่ยอมรับโครงสร้างสำเร็จรูปแล้ว

2.ข้อจำกัด แน่นอนว่าจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนไม่น้อย หากว่าจะต้องสร้างโรงงานผลิต ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจรับสร้างบ้านส่วนใหญ่เป็น SMEs มีศักยภาพไม่พอ และข้อจำกัดอีกประการ คือ พื้นที่การให้บริการ หากว่าบ้านที่รับสร้างตั้งอยู่ห่างไกลจากโรงงานมากๆ จะส่งผลทำให้ต้นทุนค่าขนส่งสูง และราคาบ้านก็จะสูงตาม จึงเป็นข้อจำกัดในการแข่งขันราคากับผู้รับสร้างรายย่อยๆ (รายที่เน้นแข่งราคา)

นั่นเป็นคำตอบว่าทำไม จึงมีผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเพียงไม่กี่ราย เลือกสร้างบ้านด้วยโครงสร้างสำเร็จรูป แต่ไม่ว่าผู้ประกอบการจะเลือกใช้วิธีก่อสร้างแบบใดก็ไม่ใช่สิ่งผิด รวมทั้งตัวผู้อ่านเองจะพอใจกับการก่อสร้างแบบใดก็ไม่ใช่ปัญหา หากได้ผู้ประกอบการที่มีความรับผิดชอบ มีการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ มีประสบการณ์ที่มากพอ พร้อมจะสร้างและส่งมอบบ้านที่มีคุณภาพแก่ท่าน แต่ที่เขียนถึงประเด็นนี้ก็เพราะต้องการทำความเข้าใจว่า “โครงสร้างสำเร็จรูป” และ “โครงสร้างหล่อในที่” มีความแข็งแรงไม่ต่างกัน

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า “โครงสร้างสำเร็จรูป” นั้นมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ได้แก่ สถานที่หรือบริเวณก่อสร้างจะต้องมีพื้นที่กว้างขวางพอด้วย เพราะชิ้นส่วนโครงสร้างสำเร็จรูปเสา-คาน ที่จะนำมาติดตั้งมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือหนัก อีกประการหนึ่งคือข้อจำกัดเรื่องการขนส่ง จำเป็นต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ ดังนั้นถนนหรือทางลำเลียงเพื่อจะเข้าถึงสถานที่ก่อสร้างต้องไม่แคบมาก

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนพบว่ากลุ่มผู้ประกอบการรับสร้างบ้านที่ใช้วิธีก่อสร้างด้วย “โครงสร้างสำเร็จรูป” นั้นมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดเติบโตขึ้นหลายเท่า ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ยังใช้วิธี “โครงสร้างหล่อในที่” พบว่าแชร์ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ถือเป็นข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่ง ซึ่งทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการจะพึงคิดทบทวนว่าแนวโน้มในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด นี่ผู้เเขียนยังไม่ได้กล่าวถึง “โครงสร้างเหล็ก” อีกหนึ่งระบบก่อสร้างบ้านที่สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว นำหนักเบาและขนส่งได้สะดวก มั่นคงแข็งแรงไม่ต่างกัน