posttoday

ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

17 กุมภาพันธ์ 2555

“สังคมคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Society) คือ หนึ่งในมาตรการสำคัญของ “องค์กรโลก”

“สังคมคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Society) คือ หนึ่งในมาตรการสำคัญของ “องค์กรโลก”

โดย...วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

“สังคมคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Society) คือ หนึ่งในมาตรการสำคัญของ “องค์กรโลก” ที่ช่วยลดภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศและลดภาวะโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรงหรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ

กิจกรรมของมนุษย์ที่มีผลทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง คือ กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) รุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น ที่เรียกว่า “ภาวะโลกร้อน” (Global Warming)

ก๊าซเรือนกระจก คือ ก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศ และมีคุณสมบัติยอมให้รังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ผ่านทะลุมายังพื้นผิวโลกได้ แต่จะดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดที่แผ่ออกจากพื้นผิวโลกเอาไว้ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญและเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ฯลฯ

ภาวะโลกร้อน หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ภาวะโลกร้อนอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของปริมาณฝน ระดับน้ำทะเล และมีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อพืช สัตว์ และมนุษย์

ปัญหาผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนในทุกวันนี้ จึงมีแนวโน้มว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

หลายประเทศในโลกจึงมุ่งที่จะกำหนดนโยบายและมาตรการในการป้องกันและบรรเทาปัญหาเหล่านี้ร่วมกัน โดยการปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาประเทศไปสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ”

เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างของรัฐบาลญี่ปุ่นที่กำหนดและอธิบายถึงแนวความคิดที่จะนำสังคมไปสู่ “สังคมคาร์บอนต่ำ” โดยกล่าวว่า “สังคมคาร์บอนต่ำ” จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 ประการ คือ

1.Carbon Minimization in all sectors

เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้ ซึ่งการจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าว จำเป็นต้องมีระบบของสังคมเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถตัดสินใจและเลือกที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นการลดโดยความสมัครใจ หรือการออกกฎหมาย มาตรการหรือกฎระเบียบด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของภาครัฐบาล การสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลดปล่อยคาร์บอนต่ำทั้งในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ และการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วมของชุมชน

2.Toward a Simpler life style that realize richer quality of life

ส่วนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคของมนุษย์ ลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น และการปรับเปลี่ยนวิถีทางในการดำรงชีวิตเป็นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่มีคุณภาพ สร้างสังคมที่เห็นความสำคัญของความสงบสุข ครอบครัว สุขภาพที่แข็งแรง เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี

3.Coexistence with Nature

การปรับตัวในการใช้ชีวิตให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติของมนุษย์ พร้อมทั้งการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่ให้เสื่อมโทรม และใช้อย่างคุ้มค่ามีประสิทธิภาพ สนับสนุนเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตามหลักการนี้ สังคมคาร์บอนต่ำ จึงเป็นทั้งเรื่องของการบรรเทา (Mitigation) และการปรับตัว (Adaptation) ของมนุษย์และสังคม

การพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำเป็นการปรับจากสังคมที่ต้องพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่สังคมที่มีการพึ่งพาพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่ยั่งยืน เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ โดยพึ่งพาภูมิปัญญาท้องถิ่นและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ในขณะเดียวกัน จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำเพื่อทดแทนเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ไม่มีประสิทธิภาพ ต้องมีการปรับโครงสร้างทางสังคม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค และแนวทางการดำรงชีวิต

วันนี้ “สังคมคาร์บอนต่ำ” จึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งของ “อุตสาหกรรมสีเขียว” (Green Industry) ที่สอดรับกับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11” ครับผม!

&<2288;