posttoday

เอลนินโญพ่นพิษ แล้งหนักฉุดเศรษฐกิจเอเชีย

20 กันยายน 2558

ออสเตรเลียขนานนามให้ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็น “ก๊อดซิลล่า เอลนินโญ” เพราะส่งผลให้หลายพื้นที่แห้งแล้งจัดผิดปกติ

โดย...กองบรรณาธิการโพสต์ทูเดย์

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเผชิญภัยคุกคามจากปรากฏการณ์เอลนินโญครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ข้อมูลจากหลายๆ ประเทศได้เตือนถึงปรากฏการณ์เอลนินโญเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ภายหลังผลการสังเกตการณ์พบว่า อุณหภูมิเหนือระดับน้ำทะเลในแปซิฟิกนั้นเพิ่มสูงขึ้นผิดปกติกว่าค่าเฉลี่ยในรอบหลายๆ ปีที่ผ่านมา

เอลนินโณ หรือปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิเหนือผิวน้ำทะเลที่สูงขึ้นมาก ซึ่งจะทำให้เกิดความแห้งแล้งรวมถึงภัยธรรมชาติจากไฟป่า

กรมอุตุนิยมวิทยาออสเตรเลีย ระบุว่า การวัดอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์เอลนินโญว่าจะขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปลายปี 2558 นี้ และมีโอกาสที่จะลากยาวไปจนถึงช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2559 โดยจะสร้างความแห้งแล้งให้แก่ภาคตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปเอเชีย และอุณหภูมิผิวน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิกแถบเส้นศูนย์สูตรจะปรับตัวสูงขึ้นจนอยู่ในระดับเดียวกัน หรือมากกว่าปรากฏการณ์เอลนินโญครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ปี 2540-2541

ออสเตรเลียขนานนามให้ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็น “ก๊อดซิลล่า เอลนินโญ” เพราะส่งผลให้หลายพื้นที่ของประเทศแห้งแล้งจัดผิดปกติ ขณะที่สถานการณ์ไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ในปีนี้รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ทางการอินโดนีเซียต้องประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่

อินโดนีเซียได้เตือนว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญได้ก่อตัวขึ้นแล้วในหลายจุดของประเทศ ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงและความแห้งแล้งจัด คาดว่าสถานการณ์อันเลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง ซึ่งจะเห็นกันได้ในเดือน ต.ค.นี้

“เอลนินโญที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความแห้งแล้งอันยาวนาน การเพาะปลูกล้มเหลว ไฟป่าโหมกระพือ และอาจจะทำให้เกิดการระบาดของโรคร้าย” อันดี เอกา ซักยา หัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยาและภูมิศาสตร์ของอินโดนีเซียกล่าวเตือนเอาไว้

ด้านศูนย์ศึกษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสหรัฐได้เตือนไว้เช่นกันว่า โลกกำลังเข้าใกล้กับความเลวร้ายจากเอลนินโญที่จะมีความรุนแรงมากกว่าทุกครั้งในประวัติศาสตร์ โดยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเฉลี่ยสูงขึ้น 0.8 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งศตวรรษที่ 20

ขณะที่สำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นโอเอเอ) ระบุว่า ปรากฏการณ์เอลนินโญนั้นมีโอกาสถึง 90% ที่จะลากยาวไปถึงฤดูหนาว และมีโอกาสถึง 85% ที่จะกินเวลานานไปถึงต้นฤดูใบไม้ผลิของปีหน้า

ต่อผลกระทบด้านเศรษฐกิจนั้น สภาพอากาศที่ย่ำแย่ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลงอย่างหนัก และราคาอาจจะปรับเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างเช่น อินเดีย ผลกระทบจากภาวะมรสุมที่ลดลงได้นำไปสู่ปัญหาผลผลิตอ้อยที่ตกต่ำลง ขณะที่ปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ยในเวียดนามก็จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตกาแฟ

บางประเทศเริ่มแสดงความวิตกกังวลต่อเอลนินโญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจบ้างแล้ว อาร์เซนนิโอ บาลิซากัน เลขาธิการสำนักงานวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ของสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติฟิลิปปินส์ (นีดา) แสดงความกังวลว่าจีดีพีของประเทศกำลังจะได้รับผลกระทบจากเอลนินโญ

“เราเกรงว่าในไตรมาส 3 นั้นมีความเสี่ยงด้านลบจากปรากฏการณ์เอลนินโญที่จะฉุดจีดีพีลงได้”บาลิซากัน กล่าว

สำหรับประเทศไทย อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานถึงข้อมูลและรายละเอียดดังกล่าว แต่หากเป็นปรากฏการณ์เอลนินโญที่มีกำลังแรงมากอุณหภูมิที่สูงขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะจะเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง 1 องศาเซลเซียส แต่ประเทศที่อยู่ในเขตอบอุ่น อุณหภูมิอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 5 องศาเซลเซียส ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรโดยตรง

“หากเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ผลกระทบต่อประเทศไทยจะเป็นเรื่องปริมาณน้ำที่ลดลง ทั้งจากฝนไม่ตกและสภาพอากาศแห้งแล้ง ฤดูฝนหมดเร็วกว่ากำหนด กระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรซึ่งอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวที่สำคัญคือ อาจส่งผลกระทบไปถึงฤดูแล้งของปี 2559 ซึ่งน่าจะมีความแห้งแล้งอย่างรุนแรง”

ขณะที่ จิรพล สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ปีหน้าจะเกิดภาวะแล้งจัด ปัญหาภัยแล้งจากเอลนินโญจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย หากฤดูฝนปีนี้มีพายุพัดเข้ามาในประเทศไทย 10 ลูก แต่โอกาสเช่นนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้ หากฝนตกต่ำกว่าเป้าน้ำต้นทุนของแต่ละเขื่อนก็กระทบต่อแผนการจัดการน้ำ

“ตอนนี้ต้องเริ่มวางแผนประกาศภัยแล้งรอบหน้าเป็นวาระแห่งชาติ ในประเทศไต้หวันเมื่อมีน้ำเหลือเพียง 25% ของปริมาณน้ำสำรองทั้งหมด รัฐบาลจะประกาศปิดการจ่ายน้ำบางพื้นที่ จำกัดเวลาจ่ายน้ำ หรือมาตรการอื่นๆ ขึ้นมารองรับทันที เพื่อหมุนเวียนให้แต่ละพื้นที่มีน้ำใช้ โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ตอนนี้เราก็ควรจะมีมาตรการเรื่องการประหยัดน้ำได้แล้ว แต่พอมีฝนตกเราก็เริ่มละเลย” จิรพล กล่าว

ด้าน สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กลับมองต่างออกไป โดยเห็นว่าหลังจากเอลนินโญจะเกิดลานินญา ซึ่งทำให้มีฝนมากขึ้น โดยจะคล้ายกับปี 2554 ฝนจะตกหนักถึงหนักมาก แต่ปีนี้ปรากฏการณ์เอลนินโญนานกว่าปกติจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบภัยแล้งมาก

“ภัยแล้งไม่น่ากลัวเท่าพายุที่จะเข้ามา โดยเฉพาะปีหน้าการบริหารจัดการน้ำ การผันน้ำ ต้องมีการเตรียมตัวพอสมควร เพราะประเทศไทยได้รับผลกระทบจากเอลนินโญและลานินญา เมื่อมีฝนฝนก็จะมาก ทำให้น้ำท่วมการกักน้ำต้องทำให้ถูกต้อง หากเก็บน้ำไว้มากเพราะกลัวว่าจะไม่มีน้ำใช้ในหน้าแล้ง ผมกังวลว่าจะกลายเป็นเหมือนปี 2554 ที่ปล่อยน้ำออกมาพร้อมกันเพราะน้ำเต็มเขื่อนไปทั้งหมด ทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก”

สมิทธ ย้ำว่า อุตุนิยมวิทยาโลกมีการทำนายไว้ล่วงหน้าแล้ว อีกทั้งสหประชาชาติมีการศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ และมีการแจ้งเตือนว่าปีหน้าสภาพอากาศจะเป็นอย่างไร ปีหน้าจะต้องมีพายุเข้าอย่างน้อย 5-6 ลูก ซึ่งต่างจากปีนี้ ปีหน้าจึงต้องบริหารจัดการน้ำให้ถูกต้อง ดูจังหวะเวลาว่าช่วงไหนเหมาะสมที่จะปล่อยออกมาบ้าง อย่าให้เป็นเช่นปี 2554 ที่ปล่อยน้ำออกมาพร้อมกัน โดยไม่มีการปรึกษากันก่อน ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักทันที ไม่ทราบว่ารัฐบาลจะทำอย่างไร แต่คิดว่าคงมีแผนจัดการเตรียมไว้แล้ว

ดีกรีความหวาดวิตกต่อปัญหาเอลนินโญนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หลายประเทศเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดการน้ำที่ต้องใช้ความพยายามมากขึ้น และรอบคอบอย่างที่สุด เพื่อรับมือกับภาวะแห้งแล้งที่จะรุนแรงมากในรอบหลายปี ที่จะถล่มหลายพื้นที่ของโลกหลังจากนี้