posttoday

ปฏิรูปตำรวจดันสูตร "แต่งตั้งโยกย้าย" ใช้ความสามารถ67% อาวุโส33%

09 สิงหาคม 2560

กรรมการปฏิรูปตร.ดันสูตรแต่งตั้งโยกย้าย ใช้ความสามารถ 67% อาวุโส 33% โละวิธีตั้งผบ.ตร.ให้อำนาจก.ตร.แทนก.ต.ช. มอบอำนาจผู้บัญชาการภาคตั้งตำรวจในพื้นที่เต็มที่

กรรมการปฏิรูปตร.ดันสูตรแต่งตั้งโยกย้าย ใช้ความสามารถ 67% อาวุโส 33% โละวิธีตั้งผบ.ตร.ให้อำนาจก.ตร.แทนก.ต.ช. มอบอำนาจผู้บัญชาการภาคตั้งตำรวจในพื้นที่เต็มที่

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ โฆษกคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ แถลงผลการประชุมว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการแต่ละชุดได้ทยอยเสนอความเห็นมายังที่ประชุมคณะกรรมการฯ ซึ่งมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ ดังนี้ 1.คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่มีพล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ เป็นประธาน ได้กำหนดวันรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ส.ค.ที่กทม. วันที่ 31 ส.ค.ที่จ.นครศรีธรรมราช วันที่ 7 ก.ย.ที่ลำปาง และวันที่ 20 ก.ย.ที่จ.ขอนแก่น

นายสมคิด กล่าวว่า 2.คณะอนุกรรมการโครงสร้างอำนาจหน้าที่ที่มีนายมนุชญ์ วัฒนโกเมร ได้เสนอความเห็นในสองเรื่องด้วยกัน คือ เรื่องที่หนึ่ง การสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยเสนอให้สตช.ยังคงอยู่ภายใต้สังกัดของนายกรัฐมนตรีต่อไปตามปัจจุบัน สาเหตุที่ให้สตช.ยังคงขึ้นกับนายกฯนั้นคณะอนุกรรมการฯให้ความเห็นว่าเรื่องตำรวจเป็นเรื่องสำคัญ จึงควรให้นายกฯเข้ามาดูแลเรื่องนี้ หากให้สตช.ไปอยู่ตามกระทรวงอาจส่งผลให้ถูกแทรกแซงในหลายระดับ ดังนั้น การให้สตช.อยู่กับนายกฯน่าจะดีที่สุด และ เรื่องที่สอง ได้เสนอว่าควรจะกระจายอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ไปยังภาค หมายความว่า อยากให้ภาคมีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการบริหารบุคคลและงบประมาณ

"เรื่องบริหารบุคคล หมายความว่าปัจจุบันผบ.ตร.เป็นผู้ตัดสินใจโยกย้ายตำรวจทุกตำแหน่งไม่เฉพาะที่กรุงเทพแต่รวมไปถึงตำรวจภาคทั้งหลาย ดังนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอว่าควรให้ผู้บัญชาการภาคดูแลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลของพล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ในอนาคตผบ.ตร.จะดูแลระดับสูงขึ้นมากว่าภาคตั้งแต่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จเรตำรวจ และ ผู้บัญชาการทั้งหลาย แต่ต่ำลงไปกว่านั้นจะให้แต่ละภาคดูแลเอง" นายสมคิด กล่าว 

นายสมคิด กล่าวอีกว่า 3. คณะอนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคล เสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายผบ.ตร. รองผบ.ตร. และตำแหน่งผู้บัญชาการภาค ได้แก่ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้น จะให้พิจารณาจากความรู้ความสามารถ 67 % และระดับอาวุโส 33% ซึ่งในกรณีของการพิจารณาจากความรู้ความสามารถ 67% นั้นแบ่งเป็นการพิจารณาจากความรู้ความสามารถโดยแท้ 33 % เช่น ตำรวจที่ได้รับรางวัลดีเด่น จะต้องได้รับการพิจาณา และอีก 34% จะพิจารณาจากความรู้ความสามารถทั่วไป ซึ่งเรียกว่าเป็น 33 – 33 -34

"สำหรับตำแหน่งผบ.ตร.มีการเสนอให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้พิจารณาคัดเลือก จากปัจจุบันที่กำหนดให้ผบ.ตร.คนปัจจุบันคัดเลือกรายชื่อผบ.ตร.คนถัดไปและเสนอชื่อไปให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)พิจารณา เพราะเดิมก.ต.ช.มีนายกฯเป็นประธาน ซึ่งเป็นฝ่ายการเมือง อีกกรรมการก.ต.ช.ก็มาจากคนนอกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าเรื่องของตำรวจควรให้ก.ตร.ทำหน้าที่แทน แต่ก.ต.ช.ยังคงอยู่ตามเดิมโดยจะทำหน้าที่เฉพาะนโยบายตำรวจโดยแท้เท่านั้น"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนตำแหน่งรองผบ.ตร.ถึงผู้บังคับการ (ผบ.ก.) ปัจจุบันกำหนดให้ผบ.ตร.คัดเลือกรายชื่อและเสนอให้ก.ตร.พิจารณา แต่มีการเสนอให้คณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเป็นผู้พิจารณาแทน ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการภาค ยังคงให้ผบ.ตร.มีอำนาจแต่งตั้งตามเดิม แต่ตำแหน่งที่ต่ำกว่ารองผู้บัญชาการภาคเป็นต้นไปจะให้ผู้บัญชาการภาคเป็นคนแต่งตั้งโยกย้าย หมายความว่า แต่ละภาคจะมีอิสระในการดูแลบริหารบุคคลภายในภาคของตนเอง อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทั้งหมดนี้ที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจจะสรุปและมีมติต่อไปในการประชุมสัปดาห์หน้า

"ที่ประชุมอภิปรายกันว่าตำรวจกว่า2แสนคน ไม่ควรแต่งตั้งโดยคนคนเดียว ควรแบ่งอำนาจการแต่งตั้งไปตามภาคทั้งหลาย" นายสมคิด กล่าว