posttoday

"สมคิด"หนุนคสช.ใช้มาตรา44เปิดช่องคนนอกบริหารมหาวิทยาลัยรัฐ

09 สิงหาคม 2560

"สมคิด เลิศไพฑูรย์" เห็นด้วยคสช.ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหามหาวิทยาลัย ชี้ต่างประเทศล้วนเอาคนนอกมาเป็นอธิการฯเนื่องจากกลัวว่าคนในจะมองแคบ

"สมคิด เลิศไพฑูรย์" เห็นด้วยคสช.ใช้มาตรา 44 แก้ปัญหามหาวิทยาลัย ชี้ต่างประเทศล้วนเอาคนนอกมาเป็นอธิการฯเนื่องจากกลัวว่าคนในจะมองแคบ

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหาการบริหารงานของสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดทางให้คนนอกมหาวิทยาลัยมาทำหน้าที่อธิการบดีและผู้บริหารว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาของบางมหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์จำนวนน้อยที่อยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ไปกำหนดจะต้องเลือกอธิการบดีจากคนในเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหา

"มหาวิทยาลัยบางแห่งมีปัญหาว่าคนในมีจำนวนจำกัด เช่น กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ หรือ ราชมงคล มีอาจารย์ประมาณ 200-300 คน ต่างกับธรรมศาสตร์ จุฬา มหิดลที่มีประมาณ 2000 คน ดังนั้น ธรรมศาสตร์ หรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไม่เคยเลือกคนนอก เลือกคนในมาตลอด"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคนนอกหรือคนในไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ซึ่งส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรา 44 เพราะปัญหาที่สำคัญ คือ ไม่ว่าจะเป็นคนนอกหรือคนในเขาสามารถทำงานให้มหาวิทยาลัยได้ดีหรือไม่ ถ้าคนในไม่ดีพอ หรือมีคนไม่พอ ก็ต้องไปเลือกคนนอกก็เป็นเรื่องปกติ

"เวลาพูดว่าคนนอก ผมอยากพูดให้ชัดเจนว่าคนนอกของมหาวิทยาลัยทั้งหลายไม่มีใครเป็นคนนอกแท้ๆ ส่วนใหญ่จะมาจากอาจารย์พิเศษที่สอนในมหาวิทยาลัยนั้น หรือเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยและมาเป็นอธิการบดี ไม่มีคนนอกแท้ที่โดดมา เพราะคนนอกที่โดดมาไม่มีทางบริหารมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้"นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ส่วนใหญ่จะห้ามไม่ให้เอาคนในมหาวิทยาลัยมาเป็นอธิการบดี โดยจะต้องเอาคนนอกต่างมหาวิทยาลัยเท่านั้นถึงจะมาเป็นอธิการบดีได้ เนื่องจากกลัวว่าคนในจะมองแคบ