posttoday

"ไอลอว์" ชี้สปท.มีงบกว่าพันล้าน แต่ได้ข้อเสนอซ้ำ-เป็นนามธรรม

27 กรกฎาคม 2560

ไอลอว์"สรุปผลงานของสปท. ชี้มีงบกว่าพันล้าน แต่ได้ข้อเสนอซ้ำ เป็นนามธรรม แถมสมาชิกมีแต่คนหน้าเดิม ข้าราชการเป็นเสียงข้างมาก

ไอลอว์"สรุปผลงานของสปท.  ชี้มีงบกว่าพันล้าน แต่ได้ข้อเสนอซ้ำ เป็นนามธรรม แถมสมาชิกมีแต่คนหน้าเดิม ข้าราชการเป็นเสียงข้างมาก

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. นายณัชปกร นามเมือง ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ เปิดเผยว่าไอลอว์ได้ทำรายงานสรุปผลงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก่อนที่สภาดังกล่าวจะหมดวาระลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยตลอดระยะเวลาการทำงาน 1 ปี 10 เดือน สปท.มีการทำงานรายงานการปฏิรูปออกมา 190 เล่ม ซึ่งไอลอว์ได้ทำการศึกษารายงาน 131 เล่ม ซึ่งเป็นข้อมูลเท่าที่เผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ของสปท.

รายงานของไอลอว์ ทำการศึกษารายงานสปท. ตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2558 จนถึง 7 กรกฎาคม 2560 ซึ่งพบว่า สปท.มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปอย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่กลับมีรูปธรรมที่สามารถดำเนินการต่อได้ทันทีเพียง 329 ข้อ และในข้อเสนอดังกล่าว บางอย่างยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด รวมไปถึงไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการดำเนินการตามข้อเสนอจะได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้หรือไม่ อย่างเช่น การเสนอให้เพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาศาสนา คุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง และอื่นๆ และจะต้องสอบโอเน็ต (O-net) ในรายวิชาดังกล่าว เพื่อจะทำให้เด็กเป็นคนดี เป็นต้น

ทั้งนี้ บางข้อเสนอยังเป็นข้อเสนอที่ลอกเลียนแบบมาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เช่น รายงานเรื่องความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง ที่เรียกได้ว่านำรายงานของสปช.มาแล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น หรือข้อเสนอที่มีกฎหมายหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่แล้ว เช่น การเสนอให้นำระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้ ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) เพื่อเปิดช่องให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวได้ก่อนหน้าที่ สปท.จะมีข้อเสนอดังกล่าวออกมาเสียอีก

นอกจากนี้ สปท. ยังมีข้อเสนอที่ล้าหลังจนทำให้สังคมต้องออกมาคัดค้าน เช่น การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่าง พ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กรออกมาคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้จะเปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้ค้นหาข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้ง เช่น สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ โดยองค์กรที่รัฐจัดตั้งนั้น มีอำนาจในการพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าวได้

"ตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน สปท.มีงบประมาณอย่างต่ำในการปฏิรูป 1,072,845,000 บาท โดยเป็นเงินที่ใช้สำหรับค่าตอบแทน ประธาน รองประธาน และสมาชิก สปท. พ่วงกับค่าผู้ช่วยของสมาชิก สปท. แต่ละคน รวมกับ ค่าใช้จ่ายที่เป็นการสนับสนุนการทำงาน เช่น ค่าเบี้ยประชุม ค่าเดินทาง ค่าจัดสัมมนา เป็นต้น สำหรับโฉมหน้าของคนที่เข้ามาทำงานในสปท.มีทั้งคนหน้าเก่าที่เคยเป็นอดีตสปช. และคนหน้าใหม่คละกันไป แต่ถ้ามองที่สัดส่วนของอาชีพแล้วสภาแห่งนี้จะประกอบด้วยข้าราชการและอดีตข้าราชการ ทหาร ตำรวจ จำนวนมากถึง 3 ใน 4 ของทั้งสภา นอกจากนั้นเป็นนักธุรกิจ นักการเมือง และสื่อมวลชน"นายณัชปกรกล่าว

นายณัชปกร กล่าวอีกว่า สังคมไทยควรตั้งคำถามถึง การปฏิรูปในยุคคสช. ว่าสามปีที่ผ่านประสบความสำเร็จและมีรูปธรรมมากน้อยแค่ไหน เพราะระยะเวลาเกือบสองปีของ สปท. ซึ่งมีงบการทำงานอย่างต่ำพันล้าน เรียกว่าถ้าเทียบตามจำนวนข้อเสนอจะตกข้อเสนอละเกือบหนึ่งล้านบาท แต่ว่าได้เพียงแค่รายงานหลายๆ เล่มมากองรวมกัน ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่กลับเป็นนามธรรม บางข้อเสนอก็ซ้ำ บางข้อเสนอไม่มีงานวิจัยรองรับ แถมบางข้อเสนอนำประเทศถอยหลังลงไปอีก