posttoday

นายกฯแนะทุกฝ่ายทบทวนตัวเองไม่ตกเป็นเหยื่อความขัดแย้ง

21 กรกฎาคม 2560

พล.อ.ประยุทธ์ปรามพวกก่อกวนไม่หวังดีอย่าเล่นการเมืองบนความทุกข์ของประชาชน ทุกฝ่ายต้องกลับไปทบทวนตัวเองไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือใคร

พล.อ.ประยุทธ์ปรามพวกก่อกวนไม่หวังดีอย่าเล่นการเมืองบนความทุกข์ของประชาชน ทุกฝ่ายต้องกลับไปทบทวนตัวเองไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือใคร

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ว่า การเมืองกับความรู้สึก ต้องหาทางรับมือในแต่ละรูปแบบ เพื่อโน้มน้าวไปสู่ความมีเหตุผล มีสติปัญญา แยกแยะถูกผิด ดีชั่ว สิ่งที่ยากสำหรับการปฏิรูปคือ การเปลี่ยนแปลงจารีต ประเพณี ค่านิยม และทัศนคติต่างๆ ไปในทางสร้างสรรค์ อยู่ภายใต้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ทันสมัยและเป็นสากล ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเมือง มีส่วนสำคัญอย่างมาก สามารถที่จะสร้างแล้วก็ทำลายได้ทุกอย่าง เช่น การเพิกเฉยส่งเสริมให้ประชาชนของชาติยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ การไร้ความสามารถในการรักษาความสงบของสังคม การแยกกลุ่ม แบ่งฝ่ายประชาชน โดยยึดตามฐานเสียงแทนที่จะเป็นรัฐบาลของคนทั้งประเทศ สร้างความแตกแยก ร้าวลึกในสังคม การใช้งบประมาณประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เป็นเครื่องต่อรองกับการเมืองในท้องถิ่นกับประชาชน เพื่อเป็นการสร้างฐานอำนาจหาคะแนนความนิยม รวมทั้งการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และไม่เกิดการบูรณาการซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย ไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ผ่านมาอาจจะเน้นประชานิยม ทำให้ปัญหายังคงวงเวียนอยู่ในสังคมอยู่จนปัจจุบัน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะก่อความเสียหายทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ที่ดีงามของไทย
          

การที่รัฐบาลพยายามชี้แจงตอบข้อสงสัยโดยให้เหตุผล ใช้ความอดทน อดกลั้น แสดงความจริงใจ บางครั้งก็ถูก "กวนน้ำให้ขุ่น" หรือเล่นการเมืองบนความทุกข์ของประชาชน ทำให้สิ่งที่ตนพูด สิ่งที่รัฐบาลพยายามสื่อสารออกไปไม่เป็นผล น่าเสียดายความเพียรพยายามก็สูญเปล่า

ทั้งนี้ เจตนาของ "ผู้ไม่หวังดี" มักสร้างบรรยากาศให้"อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล"โดยแสวงหาประโยชน์ ขยายผลจากความน่าสงสาร ความยากจน และความเดือดร้อน ซึ่งทุกคนเข้าใจดีว่าเป็นวิถีของการต่อสู้-สาดสีเพื่อเอาชนะกัน แย่งพื้นที่ฐานเสียง อันเป็นการดำเนินนโยบายทางการเมือง หรือวัฒนธรรม "การเมืองยุคเก่า" ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย บทเรียนในอดีตเหล่านี้ ในวันนี้เราต้องเร่งนำมาปรับปรุงเพื่อวันข้างหน้า โดยเฉพาะ "ฝ่ายกฎหมาย-ผู้ออกกฎหมาย" ก็ต้องหยิบยกมาปฏิรูป รวมทั้งปฏิรูปตัวเองบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ต่างคนต่างรู้ว่าเป็น "ต้นตอ" ของปัญหาการเมืองไทย จนบานปลายเกิด "ความไม่เป็นธรรม-สองมาตรฐาน"

ทุกฝ่ายต้องกลับมามองและทบทวนที่ตัวเองบ้าง ต้องมีหลักคิดมีความรู้เป็นภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของใคร ต้องร่วมมือพัฒนาบนพื้นฐานความแตกต่าง บนหลักการประชาธิปไตยที่แท้จริง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากกว่าการยอมให้ใครมา "จุดชนวน" ขยายความขัดแย้งในกลุ่มคน ประชาชน ด้วยวาทกรรมที่ไม่สร้างสรรค์อีกต่อไป สิ่งที่เคยทำให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย ไม่ปลอดภัย มีผู้คนบาดเจ็บ สูญเสียและงบประมาณก็สูญเปล่าไร้ผลสัมฤทธิ์ ปัจจุบันสถานการณ์วันนี้สงบเรียบร้อย จนหลายคนลืมภาพเหล่านั้นไปแล้ว ก็กลับมีคนพยายามจะปลุกระดมให้เกิดความเคลื่อนไหว ขัดแย้ง หรือต่อสู้กันอีก ทั้งๆ ที่กระบวนการยุติธรรมก็ได้ตัดสินกันไปแล้ว