posttoday

อภิสิทธิ์เขียนจม.เปิดผนึกถึงกรธ. แจงปัญหาไพรมารีโหวตพร้อมแนะทางออก5ข้อ

25 มิถุนายน 2560

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แจงปัญหาไพรมารีโหวต พร้อมเสนอทางออก5 ข้อ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แจงปัญหาไพรมารีโหวต พร้อมเสนอทางออก5 ข้อ

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เผยแพร่ จดหมายเปิดผนึกถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพี่อประกอบการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ที่มา

จดหมายเปิดผนึกถึงกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำขึ้นสืบเนื่องจากมีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. .... ซึ่งผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและอยู่ระหว่างขั้นตอนที่ส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าสมควรที่จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาทบทวนร่างกฎหมายนี้หรือไม่ ท่ามกลางการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ในการปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ประกอบกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนล่าสุดของสวนดุสิตโพล บ่งบอกว่าคนจำนวนมากยังมีความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวน้อยถึงค่อนข้างน้อย นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรี(นายวิษณุ เครืองาม)ได้เรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวให้ข้อมูลและความคิดเห็นที่จะเป็นประโยชน์ในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ผมจึงขอนำเสนอประเด็นที่เห็นว่ามีความสำคัญต่อการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

หลักการ

พรรคประชาธิปัตย์เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองในการบริหารพรรคการเมืองตามเจตนารมณ์ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๕ ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางให้การกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง...."

การมีบทบัญญัติให้มีการจัดทำการลงคะแนนเสียงเบื้องต้น (Primary Vote) จึงถือเป็นเจตนาดีของผู้ร่างกฎหมายที่จะปฏิบัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรานี้

อย่างไรก็ดี หากศึกษาจากประสบการณ์ในต่างประเทศของประเทศที่ใช้การเมืองการปกครองในระบบรัฐสภาจะพบว่าการใช้กลไกดังกล่าวมีอยู่ค่อนข้างจำกัดด้วยเหตุผลที่สำคัญสองประการ ประการแรกความไม่แน่นอนของการมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือการเลือกตั้งซ่อมซึ่งจะต้องจัดขึ้นภายในระยะเวลาค่อนข้างสั้นทำให้ความพร้อมในการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นซึ่งต้องมีกระบวนการจัดการและการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้สมัครจนถึงผู้เลือกตั้ง มีเวลาเพียงพอให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง มีข้อจำกัดอย่างมาก

ประการที่สอง กลไกการทำงานของระบบรัฐสภาต้องอาศัยพรรคการเมืองเป็นสถาบันในการรวบรวมผู้มีความคิดเห็นหรืออุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกันดำเนินงานในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความมีเสถียรภาพของการทำงานของฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล ต่างจากระบบแยกอำนาจเด็ดขาดหรือระบบประธานาธิบดี ที่ฝ่ายบริหารไม่สามารถยุบสภาและรัฐสภาไม่สามารถแต่งตั้งหรือล้มรัฐบาลได้ พรรคการเมืองโดยคณะกรรมการบริหารพรรคในประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาจึงยังมีความจำเป็นในการที่จะต้องมีดุลพินิจและอำนาจในการสรรหาบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานทางการเมือง ในระดับหนึ่ง เราจึงเห็นว่าความคุ้นเคยกับระบบการลงคะแนนเบื้องต้นมาจากการเมืองในสหรัฐอเมริกาที่กระบวนการเลือกตั้งใช้เวลายาวนานเป็นปีและพรรคการเมืองในสภาสองพรรคมีลักษณะของการเป็นการรวมตัวอย่างหลวมๆเนื่องจากไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล การกำหนดบทบัญญัติในกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงต้องคำนึงถึงโครงสร้างของการปกครองไทยในภาพรวมด้วย

แนวทางที่เหมาะสมในการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นเพื่อคัดเลือกผู้สมัครเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญจึงควรหาทางให้สมาชิกพรรคจำนวนมากพอสมควรมาร่วมลงคะแนนแต่มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะให้คณะกรรมการบริหารพรรคพิจารณากลั่นกรองและใช้ดุลพินิจได้อย่างเหมาะสม

สภาพปัจจุบัน ประสบการณ์ และปัญหาของบทบัญญัติในกฎหมายใหม่

ในข้อเท็จจริงกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็มีบทบัญญัติที่พยายามส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองอยู่แล้ว โดยกำหนดให้พรรคการเมืองมีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรวมถึงคณะกรรมการนโยบายที่ได้รับการเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง การสรรหาผู้สมัครที่คณะกรรมการสรรหากลั่นกรองก่อนนำเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากสาขาพรรคการเมืองเสียก่อนทั้งในระบบเขตเลือกตั้งและระบบบัญชีรายชื่อ

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่ยึดถือหลักการนี้มาตลอดและพยายามเพิ่มการมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองและสาขาพรรคการเมืองมาโดยลำดับ จึงเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ปัจจุบันมีสาขาพรรคทั่วประเทศเกือบ ๒๐๐สาขา โดยมีคณะกรรมการบริหารสาขาพรรคที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกพรรคในเขตพื้นที่นั้น (ขณะที่ในกฎหมายใหม่การได้มาซึ่งประธานและคณะกรรมการบริหารสาขาพรรคไม่ได้ถูกกำหนดให้มาจากการเลือกตั้ง) ประธานสาขาพรรคมีสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคอย่างเป็นประชาธิปไตยอย่างชัดเจน คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาก็ดำเนินการตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด แต่การดำเนินการตามแนวทางนี้มีภาระและต้นทุนสูงมากทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เห็นประโยชน์ในการที่จะดำเนินการตามแนวทางนี้แต่สนใจที่จะทุ่มเทในเรื่องของการชนะการเลือกตั้งและการควบคุมสมาชิกพรรคมากกว่า จากประสบการณ์ตรงนี้ พอจะประมวลปัญหาอุปสรรคต่างๆได้ดังนี้

๑. การจะมีฐานสมาชิกที่กว้างขวางยังเป็นเรื่องยาก แม้จะได้รับสิทธิในการมีส่วนร่วมต่างๆแต่ประชาชนจำนวนมากมีความกังวลกับการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพราะมักจะถูกตราว่าสูญเสียความเป็นกลาง ถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมหรือดำรงตำแหน่งต่างๆทั้งตามกฎหมายและในความเป็นจริงทางสังคม และเมื่อเกิดปัญหาพรรคการเมืองระดมสมาชิกเพื่อหวังเงินตอบแทนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองก็ทำให้เกิดการเข้มงวดกวดขันในขั้นตอนของการรับสมาชิกเช่นต้องมีการพิมพ์ลายนิ้วมือทำให้เกิดความไม่สะดวก การเพิ่มข้อกำหนดให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคในกฎหมายใหม่จะยิ่งทำให้การระดมสมาชิกพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น

เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๐พรรคประชาธิปัตย์เคยพยายามรณรงค์ให้สมาชิกพรรคจ่ายเงินค่าบำรุงพรรค แต่ได้รับการตอบสนองน้อยมากโดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่มองว่าเป็นการสร้างภาระมากเกินไป แม้พรรคประชาธิปัตย์จะดำเนินการเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องแต่จำนวนสมาชิกพรรคที่พร้อมจะจ่ายเงินค่าบำรุงพรรคเพียงปีละ ๒๐บาทยังมีสัดส่วนน้อยมาก การจะขยายฐานสมาชิกพรรคการเมืองจึงต้องอาศัยทั้งเวลาและการรณรงค์เปลี่ยนค่านิยมในสังคม

๒. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสาขาพรรคและสำนักงานใหญ่ของพรรคมีจำนวนมากแต่ปรากฏว่ากองทุนพัฒนาพรรคการเมืองรวมทั้งกฎหมายใหม่ กลับมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุนงานบริหารของสำนักงานและสาขาจึงมีผลทำให้แรงจูงใจของพรรคการเมืองในการดำเนินการในลักษณะนี้ยิ่งมีน้อยลงเพราะคงต้องการที่จะนำค่าใช้จ่ายไปจัดสรรในงานทางด้านการเมืองอื่นมากกว่า

๓. ด้วยสภาพข้อจำกัดข้างต้น ความเข้มแข็งของสาขาพรรคการเมืองต่างๆจึงต่างกันพอสมควร สาขาที่เข้มแข็งมีความพร้อมก็จะสามารถทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ได้เป็นอย่างดี แต่หากพื้นที่ใดยังไม่มีความแข็งแกร่งก็จะมีสาขาพรรคที่อ่อนแอหรือถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนบุคคลที่เป็นผู้บริหารสาขาพรรคนั้นให้ลงสมัครรับเลือกตั้งทำให้การสนับสนุนคนนอก คนใหม่จากวงการอื่นๆโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เข้ามาสู่การเมืองยากขึ้น ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารพรรคจึงต้องใช้ดุลพินิจในบางครั้งที่จะไม่เห็นชอบกับการตัดสินใจของสาขาพรรค ในบางกรณีที่มีบุคคลที่สามารถระดมความสนับสนุนในพื้นที่ได้ แม้จะมีโอกาสได้รับการเลือกตั้งสูง แต่กรรมการบริหารพรรคก็เคยปฏิเสธด้วยเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นยังไม่สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าจะสามารถดำเนินงานตามอุดมการณ์ของพรรคได้อย่างชัดเจน

๔. อย่างไรก็ตาม เมื่อประมาณปีพ.ศ. ๒๕๕๖ในความพยายามที่จะปฏิรูปพรรคให้สมาชิกมีส่วนร่วมมากขึ้น ได้มีการนำเอาความคิดที่จะให้มีการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นเพื่อคัดเลือกผู้สมัครบัตรทดลองโดยได้ดำเนินการที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ด้วยทรัพยากรที่จำกัดพรรคจึงจัดให้มีการลงคะแนนได้โดยการประชุม ณ จุดเดียวทั้งจังหวัด ผลที่ออกมาจึงพบว่าผู้ที่มาใช้สิทธิ์และผู้ที่ได้รับชัยชนะมีคะแนนเสียงจำนวนค่อนข้างน้อย โดยกลับเป็นการสะท้อนความสามารถของแต่ละบุคคลที่จะระดมคนใกล้ชิดของตัวเองให้มาลงคะแนนได้มากกว่า พรรคจึงยังไม่พอใจต่อผลการทดลองที่เกิดขึ้น

ที่ลำดับมาทั้งหมดมิได้ต้องการจะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดที่จะมีสมาชิกพรรคการเมืองที่ชำระเงินค่าบำรุงพรรคหรือการมีระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นเพียงแต่ประสบการณ์เหล่านี้บ่งบอกว่าการจะทำให้การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรคการเมืองมีคุณค่าตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น ต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงของสังคมด้วย พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งมีประวัติยาวนาน ฐานสมาชิกที่ค่อนข้างกว้างคงมีความพร้อมมากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆในการที่จะดำเนินการในแนวทางนี้แต่ก็ยังมีปัญหาอุปสรรคและข้อจำกัดมากมาย พรรคการเมืองอื่นตลอดจนพรรคการเมืองใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นจะต้องเผชิญกับปัญหา อุปสรรค เหล่านี้อย่างรุนแรงกว่ามากนัก

สิ่งที่มองเห็นก็คือหากกฎหมายที่ร่างอยู่มีผลบังคับใช้ พรรคการเมืองต่างๆก็ต้องปฏิบัติไปตามบทบัญญัติตามตัวอักษรแต่ความคาดหวังว่าจะทำให้ประชาชนและสมาชิกของพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมืองสามารถคัดบุคคลที่มีคุณภาพอย่างที่ผู้ร่างต้องการก็คงจะไม่เกิดขึ้น ในกรณีของพรรคการเมืองเก่าฐานสมาชิกที่มีอยู่หากอนุญาตให้สมาชิกเดิมที่แม้จะยังไม่ชำระเงินค่าบำรุงมีสิทธิ์มาลงคะแนนได้ก็คงช่วยให้มีฐานผู้เลือกตั้งที่กว้างขวางระดับหนึ่งแต่แม้กระนั้นก็คาดการณ์ได้ว่าในสภาพที่ให้พรรคการเมืองรับผิดชอบภาระในการจัดการลงคะแนนเสียงทั้งหมดการจัดให้มีการลงคะแนนก็คงเกิดขึ้นในจุดเดียว ในแต่ละจังหวัด ทำให้คาดได้ว่าจะมีคนที่พร้อมจะมาใช้สิทธิ์ค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะคนที่อยู่ในอำเภอหรือพื้นที่ที่ห่างไกลซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบเป็นอย่างมากในการคัดเลือกผู้สมัคร ในกรณีที่ให้เฉพาะสมาชิกพรรคการเมืองที่ชำระค่าบำรุงมีสิทธิ์ลงคะแนน คาดหมายได้ว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์จะมีน้อยมาก ผู้ได้รับการคัดเลือกตามระบบนี้อาจจะมีคะแนนอยู่ประมาณหลักร้อยหรือน้อยกว่านั้นเท่านั้น ไม่ใช่หลักพันหรือหลักหมื่น เหมือนที่เราเห็นในต่างประเทศตามที่เราคาดหวัง ซึ่งไม่น่าจะเป็นระบบการกลั่นกรองคัดเลือกผู้สมัครที่ดีกว่าการใช้คณะกรรมการบริหารพรรคที่มาจากการเลือกตั้งจากฐานที่กว้างขวางกว่าในที่ประชุมใหญ่

ขอย้ำว่า หากจะบังคับพรรคการเมืองให้ดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองต่างๆก็สามารถทำได้แต่ที่ท้วงติงทั้งหมดเพราะสภาพปัจจุบันและกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวยให้การดำเนินการตามกฎหมายบรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและของผู้ร่างกฎหมายได้อย่างแท้จริง

ปัญหาความสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

การจะทบทวนร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีประเด็นว่ากฎหมายนั้นมีความขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในกรณีนี้จะขอยกตัวอย่างสามประเด็นที่เห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอาจจะแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

๑. รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งโดยมีเจตนารมณ์สำคัญคือต้องการให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย ผู้สนับสนุน ศรัทธาหรือนิยมพรรคการเมืองใดในพื้นที่ซึ่งพรรคการเมืองนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการชนะการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ก็ยังสามารถไปลงคะแนนให้แก่พรรคการเมืองนั้นได้โดยคะแนนดังกล่าวจะถูกนำไปรวมคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา แต่บทบัญญัติตามกฎหมายพรรคการเมืองในขณะนี้กำลังมีการปิดกั้นพรรคการเมืองซึ่งแม้จะมีผู้พร้อมจะสนับสนุนลงคะแนนให้ในเขตเลือกตั้งแต่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดมิให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้จึงสวนทางกับเจตนารมณ์ของการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

๒. การที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อมีเจตนารมณ์ที่จะเปิดโอกาสให้บุคคลจำนวนหนึ่งซึ่งขาดทักษะในการหาเสียงแบบเดียวกับการลงสมัครในเขตเลือกตั้งสามารถมีโอกาสมาสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองที่ต้องการบุคลากรจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะจากสาขาอาชีพที่หลากหลายแต่ขาดประสบการณ์ทางการเมืองสามารถมาสมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อได้ แต่การจะดึงบุคคลเหล่านี้เข้ามาได้ก็ต้องมีหลักประกันในเรื่องของการจัดลำดับในบัญชีรายชื่อ การที่กฎหมายใหม่ให้การจัดลำดับบัญชีรายชื่อเป็นเรื่องของการลงคะแนนของสมาชิกที่มาใช้สิทธิ์ในการลงคะแนนเบื้องต้นและมีสิทธิ์เลือกได้เพียง ๑๕รายชื่อจะเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการที่จะนำคนใหม่ที่หลากหลายเข้ามาสู่การเมืองในระบบนี้ นอกจากนั้นระบบบัญชีรายชื่อยังต้องการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองสร้างความสมดุลในแง่ความหลากหลายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นโดยมีบทบัญญัติให้คณะกรรมการบริหารพรรคคำนึงถึงความหลากหลายของผู้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อให้กระจายไปตามภาค หรือให้คำนึงถึงสัดส่วน หญิงชาย แต่การนำเอาระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นมาจากลำดับผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อจะทำให้ไม่สามารถมีการใช้ดุลพินิจเพื่อให้เกิดความหลากหลายเท่าเทียมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

๓. การดำเนินการตามกฎหมายพรรคการเมืองในการลงคะแนนเบื้องต้นย่อมมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดการร้องเรียนถึงความชอบของความถูกต้องของกระบวนการความสุจริตเที่ยงธรรมในการลงคะแนนแต่ขณะนี้ทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถมีบทบัญญัติรองรับอย่างชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการอย่างไรในกรณีเหล่านี้ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสิทธิ์ของผู้สมัครหรือของพรรคการเมืองที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เหตุผลเหล่านี้น่าจะเพียงพอที่จะให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขให้ความพยายามที่จะนำเอาระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นมาใช้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอ

หากมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมแล้วทางออกเกี่ยวกับกฎหมายพรรคการเมืองที่เหมาะสมและสมควรได้รับการพิจารณามีหลายทางเช่น

๑. การให้ความสำคัญเบื้องต้นกับการที่พรรคการเมืองจะต้องมีฐานสมาชิกกว้างขวางเพื่อสามารถมีส่วนร่วมและใช้สิทธิ์ได้โดยอาจจะต้องทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการชำระเงินค่าบำรุงพรรคหรือมีบทเฉพาะกาล ทอดเวลาการบังคับใช้ในเรื่องการชำระเงินค่าบำรุงหรือการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นหรือทั้งสองเรื่อง

๒. การเน้นบทบัญญัติให้การสนับสนุนการมีสมาชิกพรรคการเมืองและการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองโดยรัฐต้องพร้อมที่จะจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมืองในเรื่องของการบริหารงานของพรรคการเมืองมากกว่าที่เป็นอยู่อย่างมากเพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริง และบังคับให้การได้มาซึ่งผู้บริหารพรรคจะต้องมีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยจากฐานรากเพื่อมิให้เกิดการครอบงำพรรคการเมืองจากคนจำนวนน้อย

๓. หากยืนยันให้มีการจัดการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นก็ควรให้กกต.และรัฐให้การสนับสนุนตลอดจนอำนวยความสะดวกในเรื่องของหน่วยเลือกตั้งการดูแลจัดการการเลือกตั้งทั้งหมดเพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองทั่วประเทศสามารถมาลงคะแนนได้อย่างสะดวก

๔. ในกรณีที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ไม่มากหรือในกรณีที่มีเหตุผลเกี่ยวกับความเหมาะสมในเรื่องของอุดมการณ์ ความซื่อสัตย์สุจริตความรู้ความสามารถควรมีบทบัญญัติที่ชัดเจนให้อำนาจคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครหรือคณะกรรมการบริหารพรรคกลั่นกรองตัดสินใจเลือกผู้สมัครตามความเหมาะสมได้

๕. ยกเลิกการใช้ระบบการลงคะแนนเสียงเบื้องต้นในการจัดลำดับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระบบบัญชีรายชื่อแต่ควรกำหนดให้บัญชีรายชื่อดังกล่าวต้องมีความหลากหลายในเรื่องภาพสัดส่วนหญิงชาย เป็นต้น

ข้อคิดข้อมูลทั้งหมดนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องในการพิจารณาความเหมาะสมของกฎหมายพรรคการเมืองที่จะบังคับใช้ต่อไป ขอยืนยันอีกครั้งว่าพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนให้มีการปฏิรูปการเมืองเพื่อให้ประชาชนและสมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของพรรคการเมืองมากขึ้นและพร้อมที่จะปฏิบัติตามกฎหมายที่จะออกมาบังคับใช้ความเห็นที่แย้งกับผู้ร่างกฎหมายในปัจจุบันอยู่บนพื้นฐานของความห่วงใยว่าการไม่คำนึงถึงความเป็นจริงในสังคมจะทำให้ผลของการบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและของผู้ร่างกฎหมายนั้นเอง

อภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๐

ที่มา http://www.democrat.or.th/th/news-activity/news/detail.php?ELEMENT_ID=25670&SECTION_ID=29