posttoday

"อุเทน" ชี้ไพรมารีโหวตทำร้ายชาติ-พรรคการเมืองอ่อนแอ

25 มิถุนายน 2560

"อุเทน ชาติภิญโญ"ค้านไพรมารีโหวตชี้เป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ

"อุเทน ชาติภิญโญ"ค้านไพรมารีโหวตชี้เป็นระบบที่ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ

นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีที่ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยในหลายประเด็นของร่าง โดยส่วนใหญ่แล้วจะทำให้พรรคการเมืองแตกสามัคคีและอ่อนแอ ก่อให้เกิดความยุ่งยากในทางปฏิบัติ ทำให้ยากต่อการดำรงอยู่ และพัฒนาขึ้นเป็นสถาบันการเมือง

ทั้งนี้ โดยเฉพาะบทบัญญัติที่ว่าด้วยการบังคับให้พรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัคร สส.เขต และ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคและสาขาพรรคในเบื้องต้นก่อน หรือระบบไพรมารีโหวต ซึ่งเป็นระบบที่อาจจะมีใช้ในต่างประเทศบ้าง แต่ไม่เคยใช้ในประเทศไทยมาก่อน  ซึ่งอาจดูดีมีส่วนร่วมของสมาชิก โดยอ้างว่าเพื่อขจัดการครอบงำของเจ้าของหรือนายทุนพรรค หรือที่อ้างว่าจะได้คนดีเข้าสภาฯ

"ซึ่งก็ไม่ยืนยันได้ว่าที่สุดแล้วจะเป็นไปอย่างที่ผู้เสนอต้องการ ถือเป็นการคิดเองเออเอง คิดเพียงแต่ไปลอกคนอื่นมา โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจความเป็นจริงของการเมืองไทยบ้างเลย  อีกทั้งในทางปฏิบัติ ถือเป็นการมุ่งทำลายระบบพรรคการเมืองของไทยมากกว่า เนื่องจากระบบนี้จะทำให้พรรคการเมืองเกิดความขัดแย้ง มีการสร้างเหตุกลั่นแกล้งขึ้นภายในพรรค ตั้งแต่ยังไม่มีการเลือกตั้ง แทนที่จะส่งเสริมคนดีมีความสามารถที่อาจจะไม่ได้ทำงานคุ้นเคยกับสมาชิกพรรคมา กลับจะเป็นการปิดกั้นเสียอีกด้วย"นายอุเทน กล่าว

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามข่าวทราบว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ยังไม่เห็นด้วยกับการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ของ สนช.ที่มี พล.อ.สมเจตน์  บุญถนอม เป็นประธาน เสนอเรื่องไพรมารีโหวตเข้ามาภายหลัง จึงสงสัยว่าผู้ที่เสนอเข้ามานั้น ได้รับสัญญาณมาชงเรื่องนี้ให้ใครหรือไม่และเพื่ออะไรกันแน่ เพราะถือเป็นความพยายามที่จะทำให้พรรคการเมืองอ่อนแออย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ยิ่งรวมกับบทบัญญัติในกฎหมายอื่นๆอันเกี่ยวเนื่องกับนักการเมืองและพรรคการเมือง อาทิ ในหลายมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือร่างกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ประเทศ ก็ทำให้การดำเนินกิจการพรรคการเมืองต่อจากนี้ไปเป็นไปด้วยความยากลำบากและสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิด

ขณะเดียวกัน มีช่องทางให้กลั่นแกล้ง ทั้งถูกตัดสิทธิ์ หรือพรรคถูกยุบได้โดยง่าย ยิ่งไปกว่านั้นระบบไพรมารีโหวตยังถือเป็นการดูถูกความคิดอ่านของประชาชนที่ใช้สิทธิผ่านการเลือกตั้ง ที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัครจากพรรค ที่ถ้าไม่ดีในสายตาประชาชนก็จะไม่ต้องถูกเลือก กระบวนการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้งของไทยนั้น ควรให้เป็นความคิดเห็นของประชาชนจริงๆไม่ต้องมีการชี้นำ นี่จึงเป็นวิธีที่ถูกและเหมาะกับประเทศไทย

"เราต้องช่วยกันจดจำไว้ว่าผู้ที่เสนอเรื่องไพรมารีโหวตเข้ามา คือคนที่ถือว่าทำร้ายประเทศ หรือหวังดีแต่ประสงค์ร้ายต่อบ้านเมืองกันแน่ ทำเป็นโลกสวย แต่มีอคติกับการเมืองไทย ต้องการบ่อนทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ แตกแยกทะเลาะกัน ซึ่งย่อมส่งผลให้ระบบการตรวจสอบในสภาฯก็จะอ่อนแอไปด้วย" นายอุเทน ระบุ