posttoday

54องค์กรภาคประชาสังคมส่งจม.เปิดผนึกหนุนเซตซีโร่กรรมการสิทธิมนุษยชน

19 มิถุนายน 2560

54องค์กรภาคประชาสังคมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสนช.และประธานกรธ.สนับสนุนการเซตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

54องค์กรภาคประชาสังคมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสนช.และประธานกรธ.สนับสนุนการเซตซีโร่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เครือข่ายภาคประชาสังคม 54 องค์กร และแกนนำ อาทิ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน(สนส.), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกแสดงความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.... ถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ... และจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ภาคประชาสังคมและบุคคล ดังรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมีหลักการและเหตุผล รวมทั้งข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

หลักการและเหตุผล

๑. โดยที่รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ และรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ได้รับรอง“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครอง” และรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่มีภารกิจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกคน ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนจะต้องสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ และนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไปตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน แผนปฏิบัติการกรุงเวียนนา ๒๕๓๖  และ “หลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ”

๒. โดยที่พระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ มีข้อจำกัดหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอำนาจหน้าที่ที่ไม่ครอบคลุมถึงการฟ้องร้องคดีและนำกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รวมทั้งความเป็นอิสระของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ จึงได้เพิ่มเติมอำนาจให้สามารถนำเรื่องขึ้นสู่ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ และการกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น  แต่การแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่ออนุวัตรการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

๓. แม้ว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๕๐ จะมีการเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ครอบคลุมถึงการฟ้องร้องคดีและนำกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และการให้สำนักงานที่เป็นอิสระ แต่กลับกำหนดให้วิธีการได้มาซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายรัฐ ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ทั้งยังมีการลดจำนวนคณะกรรมการจากสิบเอ็ดคนเหลือเจ็ดคน ยิ่งไปกว่านั้นยังไม่ได้กำหนดให้มติและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีผลผูกพันหน่วยงานรัฐ และประกันว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะนำไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งและไม่อาจบรรลุภารกิจ

๔. ปลายเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ คณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นสมาชิกอยู่ ได้มีมติ “ปรับลด” สถานภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจาก ระดับ “A” มาเป็น “B” เนื่องจากเมื่อได้ประเมินการทำงาน ตรวจสอบคุณสมบัติโดยเฉพาะกระบวนการสรรหากรรมการ ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของภาคประชาสังคมและองค์กรสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการแสดงบทบาทและดำเนินภารกิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว เห็นว่าไม่สอดคล้องกับ “หลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” ที่ได้รับการรับรองจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติมาตั้งแต่ ปี ๒๕๓๖

๕. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญยังคงมีบางมาตรา ที่บัญญัติขึ้นตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการสากลที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องมีความเป็นอิสระ ตามหลักการแห่งกรุงปารีส เช่น มาตรา ๒๖  หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  (๔) ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม เป็นต้น

๖. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .. มีพัฒนาการขึ้นในหลายประเด็น เช่น  มาตรา ๑๑ มีการปรับแก้องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มาตรา ๑๓ มีการปรับปรุงกระบวนการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มาตรา ๓๗ กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย มีอำนาจร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา ๔๐  กำหนดระยะเวลาในการจัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศประจำปีให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ  มาตรา ๔๓  กำหนดให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยเร็ว กรณีใดไม่อาจดำเนินการได้ หรือต้องใช้เวลาในการดำเนินการให้แจ้งเหตุผลให้คณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้า  มาตรา ๕๓  กำหนดให้เลขาธิการขึ้นตรงต่อคณะกรรมการแทนที่จะขึ้นตรงต่อประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  มาตรา ๖๐ กำหนดให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้มีการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ

เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....     มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ควรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... อย่างรอบคอบโดยให้เป็นไปตามหลักการปารีสที่กำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะต้องทำหน้าที่อย่างอิสระจากหน่วยงานของรัฐในการตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมาย ระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างมีประสิทธิภาพ   องค์กรภาคประชาสังคมและบุคคล ดังรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ดังนี้

๑. คุณสมบัติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ร่างมาตรา ๘ วรรคหนึ่งกำหนดคุณสมบัติด้านต่าง ๆ ของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ ๕ ด้าน คือ (๑) ประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน (๒) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอน หรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา (๓) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ (๔) ความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐ และ (๕) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทย โดยส่วนใหญ่จะกำหนดจำนวนปีไว้ ๕ ปี และ ๑๐ ปี และกำหนดให้มีอย่างน้อยด้านละคนไม่เกินด้านละ ๒ คน

เห็นว่าการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติห้าด้านดังกล่าว เป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องจากหลักการว่าด้วยสถานะและหน้าที่ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน (Paris Principles) และเป็นการขยายความรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๔๖ ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ว่า “...ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์”  จึงควรกำหนดคุณสมบัติของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดังที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔๖ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เพียงเท่านั้น และควรเพิ่ม “คำนึงถึงการมีส่วนของหญิงและชาย” เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติในพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒

๒. องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหา

ร่างมาตรา ๑๑ (๕) กำหนดให้ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคนเป็นกรรมการสรรหากรรมการสิทธิ

มนุษยชนแห่งชาติ เห็นว่าองค์กรวิชาชีพดังกล่าวมีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมจรรยาวิชาชีพของแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้รับบริการสาธารสุขเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ อันแตกต่างจากสภาทนายความที่มีหน้าช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิ จึงควรตัดผู้แทนกรรมการวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขออกจากการเป็นกรรมการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

๓. หน้าที่และอำนาจเสนอเรื่องต่อศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ

เห็นด้วยกับมาตรา ๓๗ ที่กำหนดให้หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหาย ที่ไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ โดยให้ถือว่าเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

เห็นว่า ควรเพิ่มเติมหน้าและอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ๑) เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ   ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  และ ๒) การเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นชอบตามที่มีผู้ร้องเรียนว่ากฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาที่เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐  เนื่องจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมักเกิดจากบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อันอยู่ในขอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเกิดจากกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดในทางปกครองอันอยู่ในขอบอำนาจของศาลปกครอง ทั้งเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น

๔. หน้าที่และอำนาจจัดทำรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม

มาตรา ๔๔ กำหนดว่าเมื่อปรากฏว่ามีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่ถูกต้อง หรือไม่เป็นธรรม ให้คณะกรรมการต้องตรวจสอบและชี้แจง หรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

เห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีหน้าที่ปกป้องรัฐในเวทีระหว่างประเทศแทนที่จะตรวจสอบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริง หรือไม่อย่างไร นอกจากนั้น ในปีหนึ่ง ๆ อาจมีรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมากมายจากภาครัฐและประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนในประเทศต่าง ๆ ทั้งการดำเนินการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจทำให้สังคมและนานาชาติเข้าใจว่ามีบทบาทเป็นปากเสียงของรัฐบาลไทยมากกว่าการตรวจสอบการละเมิด หรือละเลยสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่รัฐ และที่สำคัญอาจขัดกับหลักความเป็นอิสระตามหลักการแห่งกรุงปารีส ดังนั้น จึงควรเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเห็นว่าควรนำรายงานใดขึ้นมาพิจารณามากกว่าที่กำหนดว่า “ต้องตรวจสอบและชี้แจง หรือจัดทำรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง”

๕. การเปิดเผยข้อมูล

มาตรา ๔๖ กำหนดความผิดและผู้ที่อาจต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา ๕๙ ซึ่งมีโทษจำคุกหกเดือนปรับหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้มาเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจกระทบกระเทือนต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ร้องเรียน พยาน เจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนให้ต้องรับผิด เนื่องจากไม่ชัดเจนว่าข้อมูลข่าวสาร หรือข้อเท็จจริงใดสามารถเปิดเผยได้หรือไม่ ดังนั้นควรปรับปรุงดังนี้

(๑) บัญญัติให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นผู้กำหนดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่จะต้องปกปิดไว้เป็นความลับ ซึ่งผู้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวอาจถือเป็นความผิด โดยยึดหลักการตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เป็นสำคัญ

(๒) ข้อมูลข่าวสารที่ต้องปกปิดคือข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยไปแล้วอาจเกิดความเสียหายต่อบุคคลอื่น ประชาชน และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(๓) ความรับผิดควรจำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีหน้าที่ในการควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นเท่านั้น

๖. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เห็นว่ามาตรา ๔๗ การกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคลนั้น ย่อมทำให้สำนักงานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่สนองตอบกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีความเป็นอิสระในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐและมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการ ดังที่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

๗. บทเฉพาะกาล

เห็นว่าควรคงบทเฉพาะกาล มาตรา ๖๐ วรรค ๑ ที่บัญญัติว่า “ให้ให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่ากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่”  ทั้งนี้ เพื่อให้มีการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นไปตามหลักการสากล โดยมิชักช้า ได้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่หลากหลาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นไปตามหลักการแห่งกรุงปารีส และสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ

ด้วยเหตุที่ กระบวนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นกว้างขวางมากนัก การเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน ย่อมส่งผลให้กระบวนการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นไปโดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน การที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาสอดคล้องกับหลักการแห่งกรุงปารีสว่าด้วยแนวทางในการจัดตั้งและดำเนินการสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติซึ่งประเทศไทยเองได้รับรองไว้ นอกจากจะส่งผลต่อการเลื่อนสถานะภาพของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ดีขึ้นจากระดับ B เป็น A ในอนาคตแล้ว ยังจะทำให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จะได้มาเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งพาของประชาชนในการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างแท้จริง