posttoday

สปท.ถกร่างพรบ.ไซเบอร์ชี้นิยามกว้างขวางอาจละเมิดสิทธิประชาชน

15 พฤษภาคม 2560

สปท.พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สมาชิกท้วงกำหนดคำนิยามกว้างเกินไปอาจละเมิดสิทธิประชาชน

สปท.พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สมาชิกท้วงกำหนดคำนิยามกว้างเกินไปอาจละเมิดสิทธิประชาชน

การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธาน สปท. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระการปฏิรูปที่สำคัญและเร่งด่วน เรื่องผลการศึกษาและข้อสังเกตร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน ซึ่งมีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน
โดยมีสาระสำคัญ คือ การวางมาตรการรับมือและป้องกันระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต การสื่อสาร โทรคมนาคม และดาวเทียม หากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อระบบดังกล่าว ซึ่งพล.ต.ต.พิสิษฐ์ เปาอินทร์ รองประธานกมธ. ชี้แจงต่อที่ประชุมสปท.ว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ สาธารณูปโภค ดาวเทียม ฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามใกล้ตัว ทั้งในส่วนบุคคล ภาครัฐ เอกชน สร้างความเสียหายมาก

อย่างไรก็ดี กมธ.จึงศึกษาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว พร้อมนำร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากครม.มาพิจารณา และมีข้อสังเกตและข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลนำไปแก้ไข เช่น การแก้ไขคำจำกัดความของไซเบอร์ให้กว้างขวาง ครอบคลุมความมั่นคงของชาติในทุกมิติ ทั้งด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม การให้บริการดาวเทียม ระบบกิจการสาธารณูปโภค  ระบบกิจการสาธารณะ เช่น ระบบขนส่ง ถือเป็นเครือข่ายระดับประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ ความมั่นคงทางทหาร ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน ยังเสนอแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ(กปช.) จากเดิมให้รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธาน มาเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และมีรมว.กลาโหม รมว.ดีอี เป็นรองประธาน เนื่องจากความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน

"การให้นายกฯหรือรองนายกฯเป็นประธานกปช. เพื่อให้กำหนดทิศทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ เพราะนายกฯหรือรองนายกฯมีอำนาจกำกับดูแลทุกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่สำนักงานกปช. ที่ร่างเดิมมีฐานะเป็นนิติบุคคล ไม่เป็นส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แก้ไขเป็น ให้เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากรม ขึ้นตรงต่อนายกฯ เพื่อให้มีการขับเคลื่อนสั่งการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว

ทั้งนี้ กปช.มีอำนาจกำกับดูแล ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ สามารถสั่งการหน่วยงานราชการ เอกชน ให้กระทำการหรือยุติการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้  รวมทั้งมีอำนาจการเข้าถึงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐและเอกชนได้ เมื่อเกิดเหตุที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์"พล.ต.ต.พิสิษฐ์กล่าว

ส่วนข้อกังวลของภาครัฐและเอกชนที่เกรงว่า การเข้าถึงข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ของกปช.จะกระทบสิทธิเสรีภาพประชาชนนั้น ได้มีการแก้ไขให้การดำเนินการดังกล่าวต้องอยู่ภายในคำสั่งศาล ยกเว้นกรณีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนหากไม่ดำเนินการอาจเกิดความเสียหายร้ายแรง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยการอนุมัติของกปช.ดำเนินการเข้าถึงข้อมูลได้ และรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว ส่วนบทกำหนดโทษผู้ฝ่าฝืนร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้แก้ไขให้มีโทษทางอาญาโดยเจตนาด้วย จากเดิมมีแค่โทษทางวินัยแก่หัวหน้าส่วนราชการที่ไม่ปฏิบัติตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

"เพื่อให้ทันต่อภัยคุกคามในปัจจุบันและอนาคต ได้เสนอให้รัฐบาลเสนอร่างดังกล่าวต่อสนช. เพื่อให้ประกาศใช้โดยเร็ว แต่ในระหว่างนี้กมธ.เสนอให้นายกฯใช้อำนาจ มาตรา 44  ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 หรือมาตรา 265  ของรัฐธรรมนูญปี 60 ตั้ง กปช.ขึ้นมาทำหน้าที่ก่อน และเมื่อร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศใช้ให้โอนกิจการทั้งปวงของกปช.ที่ตั้งขึ้นไปเป็นของกปช.ชุดใหม่ เสมือนเป็นการทำงานของกปช."พล.ต.ต.พิสิษฐ์ กล่าว

จากนั้นได้สมาชิกสปท.อภิปรายแสดงความเห็นโดยส่วนใหญ่ท้วงติงเรื่องการกำหนดคำนิยาม “ไซเบอร์” ที่กว้างเกินไป และการมีอำนาจสั่งการให้เอกชนต้องปฏิบัติตาม อาจก้าวล่วงไปถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสปท. ระบุว่า กมธ.กำหนดนิยามศัพท์คำว่าไซเบอร์ไว้กว้างเกินไป โดยเฉพาะมาตรา 44 (3) เรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลการติดต่อสื่อสารทั้งทางไปรษณีย์  โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสารสื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือดำเนินการตามมาตรการเหมาะสม แต่ต้องได้รับการอนุญาตจากศาล

ทั้งนี้ ยกเว้นกรณีเร่งด่วน ที่ให้กปช.ดำเนินการไปก่อน แล้วค่อยรายงานให้ศาลทราบโดยเร็วนั้น  หมายความว่า นอกจากจะให้มีอำนาจดักฟังได้แล้ว ยังให้ดำเนินการตามมาตรการเหมาะสมได้อีก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า การที่กปช.มีอำนาจสั่งการครอบคลุมไปถึงเอกชนได้ด้วยนั้น  จะมีหลักประกันอย่างไรว่า เพราะอำนาจเหล่านี้จะไม่ถูกเจ้าหน้าที่นำไปใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน จึงควรระบุให้ชัดเจนว่าอำนาจเหล่านี้จะไม่ก้าวล่วงไปถึงเนื้อหาในการแสดงออกของประชาชน

หลังจากสมาชิกสปท.อภิปรายครบ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานฉบับดังกล่าว จากนั้นจะส่งรายงานให้ครม.และคณะกรรมการกฤษฏีกาประกอบการพิจารณาต่อไป