posttoday

สนช.รับหลักการ ร่างกม.กกต.

21 เมษายน 2560

มติสนช.รับหลักการ ร่างกม.กกต. ห่วงผู้ตรวจการเลือกตั้งสู้กกต.จังหวัดไม่ได้ หวั่นกระทบสถานะ กกต.เดิม 2-3 คน

มติสนช.รับหลักการ ร่างกม.กกต. ห่วงผู้ตรวจการเลือกตั้งสู้กกต.จังหวัดไม่ได้ หวั่นกระทบสถานะ กกต.เดิม 2-3 คน    

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ 201 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)  พร้อมต้ังคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 31 คน พิจารณารายละเอียดภายกรอบเวลา 45 วัน
 
ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ความสนใจอภิรายประเด็นเรื่องผู้ตรวจการเลือกตั้ง  โดย นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน สนช. อภิปรายว่า การกกต.จังหวัด ออก และให้กำหนดรูปแบบผู้ตรวจการเลือกตั้งขึ้นแทน ไม่แน่ใจว่ารูปแบบดังกล่าวจะใช้ได้หรือไม่ เพราะใช้คนนอกพื้นที่ ขณะที่กกต.จังหวัดมีความผูกพันและคุ้นเคยกับพื้นที่ได้ดีกว่า

นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งของกกต.ก่อนที่ร่างกฎหมายจะประกาศใช้ ซึ่งในร่างกฎหมายดังกล่าวกำหนดคุณสมบัติเข้ม จนอาจจะมีกกต.บางคนต้องพ้นตำแหน่ง ซึ่งจะกระทบสิทธิกับผู้ดำรงตำแหน่งนั้นๆ หากมองตามหลักกฎหมายทั่วไป ผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆต้องได้รับการสรรหาถูกต้องทุกอย่าง และสละอาชีพของตนเองเพื่อเข้ามารับการสรรหา ก็ควรให้อยู่ครบวาระ โดยเรื่องนี้จะต้องมีการหารือต่อไปในชั้นกมธ.

ด้าน นายสมชาย แสวงการ สนช. กล่าวว่า จากการพิจารณาของสนช.ในเบื้องต้น พบว่าจะมีกกต. จำนวน 2-3 คน ขาดคุณสมบัติตามร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นจึงขอเรียนถามอย่างตรงไปตรงมาว่า หากสนช.แปรญัตติไม่เห็นด้วยกับกรธ. จะนำไปสู่ชั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรมธ. ชี้แจงว่า ข้อกังวลที่ระบุว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งจะไม่ชำนาญเหมือนกกต.จังหวัดนั้น สมาชิกนั่งอยู่ในสภายังรู้เลยว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง ปัจจุบันการสื่อสารรวดเร็วจึงไม่จำเป็นต้องลงไปฝังตัวอยู่ในพื้นที่ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของผู้ตรวจการเลือกตั้งจะเป็นคนในพื้นที่ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานกกต.จังหวัดน่าจะบอกเบาะแสได้ ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล

“เป็นหลักปกติที่เราจะต้องสร้างมือไม้ให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งทำงาน แต่ไม่ใช่มอบหมายหรือมอบอำนาจให้คนอื่นไปทำ และนี่ก็จะเป็นหลักใช้ตลอดไปในทุกองค์กรอิสระ ที่สำคัญเมื่อตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด มันจะเป็นรูปกรรมการ การทำงานก็จะเป็นคณะซึ่งไม่น่าจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการตรวจสอบการเลือกตั้ง แต่ถ้าเป็นรูปแบบผู้ตรวจการเลือกตั้ง เขาจะสามารถทำงานลำพังและรายงานกลับสู่ส่วนกลางด้วยตัวเขาเอง” 

อย่างไรก็ตาม กรณีรัฐธรรมนูญมาตรา 77  กำหนดการรับฟังความคิดเห็น นั้นก่อนตรากฎหมายขอให้ฟังประชาชน แต่วิธีการรับฟังก็สุดแต่ลักษณะกฎหมาย ถ้าสามารถรับฟังตามจุดต่างๆได้ก็ไป แต่ถ้าไม่ได้จะใช้เทคโนโลยีให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลก็ได้ ขณะนี้ในคณะกรรมการกฤษฎีกาตกลงกันว่าจะใช้ระบบไอทีในการรับฟังความคิดเห็น โดยให้มีช่องระบุความคิดเห็นได้ นอกจากนี้ยังได้คิดให้นิติบุคคลมาขึ้นทะเบียนความสนใจในด้านต่างๆ หากมีกฎหมายที่ตรงกับที่นิติบุคคลสนใจก็จะทำหนังสือเชิญมาเพื่อแสดงความคิดเห็นผ่านระบบไอที