posttoday

สนช.ยอมตัดปมตั้งบรรษัทน้ำมันไปเป็นข้อสังเกตในกฎหมายปิโตรเลียม

30 มีนาคม 2560

สนช.​ผ่าน พรบ.ปิโตรเลียม พร้อมตัด ม.10/1 ไปเป็นข้อสังเกต "สกนธ์" เผยแผนอาจใช้คนจาก "ปตท.สผ.- กรมเชื้อเพลิง-กรมพลังงานทหาร"

สนช.​ผ่าน พรบ.ปิโตรเลียม พร้อมตัด ม.10/1 ไปเป็นข้อสังเกต "สกนธ์" เผยแผนอาจใช้คนจาก "ปตท.สผ.- กรมเชื้อเพลิง-กรมพลังงานทหาร"

เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ภายหลังการพิจารณากว่า 6 ชม.ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 227  ต่อ1เสียง งดออกเสียง 3 เสียง เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมในวาระ 3 เห็นควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยกรรมาธิการ (กมธ.) ยอมตัด มาตรา 10/1 เรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และปรับไปอยู่ในข้อสังเกต​ ว่า ครม.ควรแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นภายใน 60 วัน เพื่อพิจารณาศึกษาถึงรายละเอียดรูปแบบและวิธีการในการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่เหมาะสมภายใน 1 ปี ​ 

พล.อ.สกนธ์  สัจจานิตย์  ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ชี้แจงก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณา ว่า เรื่องนี้มีประชาชนไม่พอใจมาร่วมกลุ่มประท้วงให้ถอนร่าง เพราะกมธ.ไม่ได้เห็นชอบตามที่เสนอมาทั้งหมด ซึ่งเป็นไปไม่ได้​ การทำงานกมธ.เชิญนักวิชาการผู้ที่เกี่ยวข้องมา ทั้งภาคประชาชน เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน ภาคธุรกิจ และผู้ต่อต้าน ​โดยสมาชิกแต่ละคนเป็นตัวของตัวเองไม่ใช่สั่งซ้ายหันขวาหันได้ เราถูกโจมตีจากทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มนายทุนที่ว่าเราไปฟังประชาชนอย่างเดียวไม่ลืมหูลืมตา เราทำงานเพื่อประเทศ เป็นทหารอดทนได้แต่อย่ามากเกินไป มีขีดจำกัด

พล.อ.สกนธ์ กล่าวว่า กรอบการทำงานของ กมธ. ได้ปรับแก้ไขเนื้อหาในร่างเดิม 4 มาตรา เพิ่มขึ้นใหม่สองมาตรา โดยหลักคือการแก้ไขถ้อยคำจาก “สัญญาจ้างสำรวจผลิต” เป็น ”สัญญาจ้างบริการ” ส่วนการเพิ่มเรื่องบรรษัทพลังงานแห่งชาติ นั้นไม่ได้เริ่มต้นมาจากทางกรรมาธิการ แต่มาจากผู้แทนสนช. ในการประสานงานกับวิปรัฐบาล แจ้งว่ามีผู้สงวนคำแปรญัตติ จึงนำประเด็นนี้ไปเสนอต่อ ครม.พิจารณาแล้วจึงเห็นชอบให้ตั้งบรรษัทน้ำมันและบัญญัติใน พ.ร.บ.นี้ โดยให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารูปแบบวิธีดำเนินการหลังพ.ร.บ.นี้มีผลบังคับใช้

"เรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินั้น แผนระยะยาวไม่ใช่ทำทันที แต่จะต้องมีการศึกษา ​มติ ครม.เคยให้กระทรวงพลังงาน กระทรงการคลัง ศึกษาว่าจะใหญ่จะเล็ก มีอำนาจหน้าที่ โครงสร้างอย่างไร ทำทันทีไม่ได้ แล้วเอาคนจากไหนมาตั้ง ก็อาจเอาคนจาก ปตท.สผ. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมพลังงานทหาร สามส่วนมาร่วมกันได้"​

ประเด็นที่มีสมาชิก การอภิปรายมากที่สุดคือ มาตรา 10/1 ซึ่งกรรมาธิการเขียนเพ่ิมกำหนดให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม โดยพิจารณาจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดของรูปแบบและวิธีการดำเนินการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ซึ่งมีทั้งสมาชิกเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย นายธานี อ่อนละเอียด กล่าวว่า การเขียนกำหนดให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เมื่อพร้อมนั้นอาจมีปัญหาในอนาคต ซึ่งควรจะปรับไปเขียนเป็นข้อสังเกตแนบท้ายจะดีกว่า

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวว่า จากรูปแบบสัมปทานเดิมหากพรบ.นี้ผ่านจะมีสัญญาใหม่อีกสองแบบ คือสัญญาแบ่งปันผลผลิต ​ และสัญญาบริการ ​ดังนั้นในช่วงที่ยังไม่ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ตัวแทนรัฐที่จะทำสัญญาคือใคร หากให้หน่วยงานรัฐไปเป็นคู่สัญญากับบริษัทข้ามชาติก็ไม่มีศักยภาพพอ แต่ปัญหาคือคำว่าเมื่อพร้อมนี่จะเป็นเวลานานแค่ไหน

นายวรพล โสขัดติยานุรักษ์ กล่าวว่า นอกจากสัญญารูปแบบและสัมทานในอดีตที่ใกล้หมดอายุที่จะทำให้เกิดทรัพย์สินประเภทสิทธิรูปแบบใหม่ ที่จต้องมีวิธีการบริหารจัดการซึ่งหน่วยงานรัฐอย่างกรมเชื้อเพลิงกระทรวงพลังาน ไม่ค่อยคล่องตัว อาจพร้อมแค่การทำสัมปทาน แต่สองอย่างที่กำลังเกิดจำเป็นต้องมีองค์กรทำหน้าที่แทนรัฐหรือองค์กรรัฐอย่างกระทรวงพลังงานที่ปรับให้มีศักยภาพ เชิงธุรกิจ บริหารจัดการ ขยายไปถึงการขายจำหน่ายรับซื้อ​ให้คล่องตัว

จะต้องมีวิธีการบริหารจัดการซึ่งหน่วยงานรัฐอย่างกรมเชื้อเพลิงกระทรวงพลังาน ไม่ค่อยคล่องตัว อาจพร้อมแค่การทำสัมปทาน แต่สองอย่างที่กำลังเกิดจำเป็นต้องมีองค์กรทำหน้าที่แทนรัฐหรือองค์กรรัฐอย่างกระทรวงพลังงานที่ปรับให้มีศักยภาพ เชิงธุรกิจ บริหารจัดการ ขยายไปถึงการขายจำหน่ายรับซื้อ​ให้คล่องตัว

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์  สนช. อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รูปแบบของบรรษัทน้ำมัน แต่ละประเทศไม่เหมือนกันมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ไม่มีรูปแบบใดที่จะใช้ได้กับทุกประเทศ อย่างประเทศไทยปัจจุบันมีรูปแบบเป็นบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทีรัฐเป็นหน่วยงานกำกับ ซึ่งเป็นเทรนด์ของโลก

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ในปัจจุบันไม่ได้สิทธิพิเศษ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการ กรมเชื้อเพลิงเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการทำสัมปทาน อย่างไรก็ตาม หากพ.ร.บ.นี้ผ่านความเห็นชอบ ของสนช. กระทรวงพลังงานก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ ​ส่วนคิดว่าต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเสริมหรือไม่และรูปแบบใด ​ก็ไปคิดกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรอบคอบ

น.ส.วราลัย อ่อนนุ่ม กมธ. กล่าวว่า สาเหตุที่เรื่องบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ  ในร่าง​ พ.ร.บ.นี้ ยังไม่มีคำจัดความ​ ไม่พูดถึงอำนาจหน้าที่ เพราะมติครม.บอกให้ต้องศึกษาก่อนดังนั้นจึงต้องรอ ผลการศึกษารูปแบบการจัดตั้งให้เสร็จก่อนถึงจะเขียนได้ ​

จากนั้น นายสมชาย แสวงการ สนช. เสนอว่า ขอให้ กมธ. ตัดมาตรา 10/1 และปรับไปเขียนในข้อสังเกตอย่างชัดเจนว่า จะตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติให้เสร็จภายในหนึ่งปี เพราะหากโหวตไปก็จะมีแพ้ชนะ

พล.อ.สุรศักดิ์ ศรีศักดิ์ ผช.รมต.พลังงาน ระบุว่า ทาง พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้ให้มายืนยันว่า กระทรวงพลังงานพร้อมนำข้อสังเกตไปสู่การศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม หาแนวทางรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนในการจัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพยากรปิโตรเลียมเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุด 

จากนั้น พล.อ.สกนธ์ ชี้แจงว่าเมื่อพล.อ.สุรศักดิ์ ระบุเช่นนี้ก็ถือเป็นสัญญาประชาคม ที่จะรับไปดำเนินการศึกษาเพื่อจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด