posttoday

สนช.เดินหน้าดันกม.ปิโตรเลียม ยันไม่ถอนทุกกรณี

29 มีนาคม 2560

สนช.เผยเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม ไม่มีการถอนออกจากวาระ ย้ำไม่มีการสอดไส้ตามที่มีผู้กล่าวหา

สนช.เผยเดินหน้าพิจารณาร่างกฎหมายปิโตรเลียม ไม่มีการถอนออกจากวาระ ย้ำไม่มีการสอดไส้ตามที่มีผู้กล่าวหา

นายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) เปิดเผยว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....และร่างพ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสนช.จะเดินหน้าไปตามกระบวนการปกติ โดยไม่จำเป็นต้องถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาก่อนแต่อย่างใด เนื่องจากทุกอย่างผ่านการพิจารณาของวิปสนช.แล้วและเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

นายสมชาย กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าเนื่องจากในวันที่ 30 มี.ค.สนช.ต้องพิจารณาร่างฎหมายหลายฉบับ จึงคิดว่าถ้าสนช.สามารถพิจารณาให้เสร็จได้ภายในวันเดียวก็จะดำเนินการ แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนั้นก็จะไปดำเนินการพิจารณาต่อในวันถัดไปให้เสร็จ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการที่มีการบัญญัติมาตรา 10/1 เพื่อศึกษาเกี่ยวกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ไม่ได้เป็นการสอดไส้ตามที่มีบางฝ่ายกล่าวหา เพราะแม้คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะได้บัญญัติเข้าไป อันเป็นการแก้ไขเกินหลักการตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการแก้ไขเกินกว่าหลักการแต่อย่างใด

แหล่งข่าวจากสนช. กล่าวว่า ที่ประชุมสนช.อาจจะเสนอให้มีการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 10/ 1 จากเดิมที่กำหนดให้มีการจัดบรรษัทน้ำมั่นแห่งชาติเมื่อมีความพร้อม มาเป็นการกำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการตั้งคณะกรรมการศึกษาถึงความเป็นไปได้และรูปแบบของการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งการแก้ไขในลักษณะนี้จะมีความชัดเจนมากกว่าการไปกำหนดพิจารณาเมื่อมีความพร้อมที่ไม่มีขอบเขตการดำเนินการที่แน่นอน

พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ปิโตรเลียมของสนช.ในวันที่ 30 มี.ค.ว่า ก่อนหน้านี้สนช.ได้เคยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปิโตรเลียม โดยมีภาควิชาการและภาคประชาชนเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งผลออกมาต้องมีทั้ง การสัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และการจ้างบริการ

พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ผลการศึกษาบอกว่า ในการแบ่งปันผลผลิต จะต้องมีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมาเพื่อมาดำเนินธุรกิจตรงนั้นตามหลักการ จากนั้นได้ส่งข้อเสนอไปให้รัฐบาล พร้อมกับ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ประธานกมธ.ที่นำทีมศึกษาเรื่องนี้พาคณะที่มีทั้งทหารและพลเรือนไปพบ ชี้แจงผลการศึกษากับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯในเวลานั้น ก่อนที่รัฐบาลจะเสนอร่างพ.ร.บ.เข้ามาให้สภาในเวลาต่อไป

พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า การร่างกฎหมายจะให้ถูกใจคนทั้งประเทศไม่ได้ และยืนยันว่ากรมพลังงานทหารไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะกรมพลังงานทหารเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหม โดยมีหน้าที่จัดกิจการพลังงานสำหรับการป้องกันประเทศเท่านั้น ไม่ใช่การทำธุรกิจ

“ไม่ได้มีความกังวล เพราะในวิถีทางประชาธิปไตย ย่อมมีความเห็นต่าง การจะมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องเป็ นความงดงามในระบอบประชาธิปไตย จึงไม่วิตก”พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตว่า ผู้พิจารณากฎหมายฉบับนี้ส่วนใหญ่เป็นทหาร อาจมีส่วนได้ส่วนเสียกับการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติในอนาคต พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่าไม่มีใครมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะส่วนตัวก็ไม่ได้มีหุ้นปตท.