posttoday

สนช.เจอ "สุรพงษ์" ลูบคมขอนับองค์ประชุม

29 มีนาคม 2560

สนช.เจอ "สุรพงษ์" ขอนับองค์ประชุม ก่อนมีมติยันกลับห้ามคนนอกเสนอนับองค์ประชุม ด้าน ป.ป.ช. ยันออกพาสปอร์ตให้ทักษิณผิดทุกประตู

สนช.เจอ "สุรพงษ์" ขอนับองค์ประชุม ก่อนมีมติยันกลับห้ามคนนอกเสนอนับองค์ประชุม ด้าน ป.ป.ช. ยันออกพาสปอร์ตให้ทักษิณผิดทุกประตู

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระรับฟังการแถลงปิดคดีถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ กรณีออกหนังสือเดินทางให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะตัวแทนฝ่ายผู้กล่าวหา แถลงว่า กล่าวว่า นายสุรพงษ์มีกระทำความผิดตามกฎหมายชัดเจน เพราะนายทักษิณ เป็นบุคคลที่กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหลบหนีหมายศาลหลายฉบับ กระทรวงต่างประเทศจึงไม่ควรออกหนังสือเดินทางให้

น.ส.สุภา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ภายหลังที่นายทักษิณยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางแบบธรรมดา นายสุรพงษ์ ได้มีคำสั่งในวันที่ 25 ต.ค. 54 ให้ยกเลิกคำสั่งเก่าของรัฐบาลที่แล้ว และขอให้ออกหนังสือเดินทางแก่นายทักษิณได้ ดังนั้นกรมการกงสุลจึงออกหนังสือเดินทางให้ในวันที่ 26 ต.ค. 54 ซึ่งขอให้สมาชิกสนช.สังเกตว่าเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวล้วนประทับตราคำว่า “ด่วนมาก” และ “ลับมาก”  โดยไม่ลงรับเอกสารตามระเบียบงานสารบรรณ

กรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า ดังนั้นป.ป.ช.จึงเห็นว่า การกระทำของนายสุรพงษ์เป็นการกระทำที่มิชอบตามกฎหมายประมวลอาญามาตรา 157 ฐานเป็นละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหน้าที่หรือใช้อำนาจในหน้าที่มิชอบ ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542

จากนั้นเป็นการแถลงปิดคดีของนายสุรพงษ์ แต่นายสุรพงษ์ ได้ขอให้ที่ประชุมสนช.นับองค์ประชุมสนช. โดยนายสุรพงษ์ อ้างว่ามีสมาชิกสนช.เข้ามาร่วมฟังการแถลงปิดคดีบางตาประมาณ 50 คนเท่านั้น เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 มาตรา 13 บัญญัติว่าการประชุมสนช.ต้องมีสมาชิกมีไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 กดอ็อดต้องประกาศเรียกให้สมาชิกสนช.เข้ามาในห้องประชุม จนมีสมาชิกสนช.เข้ามาประชุมมากขึ้น พร้อมกับเชิญผู้แทนของป.ป.ช.และนายสุรพงษ์ ออกจากห้องประชุมเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สนช.พิจารณาว่านายสุรพงษ์ ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกแห่งสภาสามารถเสนอให้มีการนับองค์ประชุมได้หรือไม่

สำหรับการประชุมในประเด็นดังกล่าวส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่ากรณีดังกล่าวนายสุรพงษ์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีสิทธิเสนอให้นับองค์ประชุม อีกทั้งการที่นายสุรพงษ์ ได้นำนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ามาในห้องประชุม ทั้งที่ๆ นายเรืองไกรได้ให้สัมภาษณ์ข่มขู่ประธานสนช.และสมาชิกในทางที่ไม่เหมาะสม จากนั้นที่ประชุมสนช.ใช้เวลาหารือนานกว่า 1 ชั่วโมงก่อนที่จะมีมติเอกฉันท์ 149 เสียง เห็นด้วยกับการไม่ให้คนนอกเสนอนับองค์ประชุมสนช.

นายสุรชัย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องมีการลงมติดังกล่าว เพราะผู้ถูกกล่าวหาได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญชั่วคราวขึ้นมา และถ้าจะใช้มาตรา 5 วรรคสองของรัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ.2557ว่าด้วยการให้สนช.วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครอง หรือจะให้ประธานสนช.วินิจฉัยชี้ขาดเอง ก็ไม่แน่ใจว่าทำได้หรือไม่ จึงขอสร้างบรรทัดฐานใหม่ในเรื่องนี้เพื่อให้สภาใช้ต่อไป

ต่อมา นายสุรพงษ์ ได้กลับเข้ามาห้องประชุมอีกครั้ง โดยไม่มีนายเรืองไกรเข้ามาในห้องประชุมด้วย ซึ่งนายสุรชัยได้แจ้งมติสนช.ให้นายสุรพงษ์ทราบ พร้อมกับสอบถามถึงกรณีที่นายเรืองไกรให้สัมภาษณ์ในลักษณะข่มขู่ตามที่มีการกล่าวหา ทั้งนี้ นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การให้สัมภาษณ์ของนายเรืองไกรก็เป็นไปตามที่สื่อมวลชนนำเสนอ และขณะนี้นายเรืองไกรได้ออกจากห้องประชุมเพื่อไปรับลูกแล้ว

จากนั้น นายสุรพงษ์ อ่านเอกสารคำแถลงปิดคดีว่า หากสนช.ได้ตรวจสอบการไต่สวนของป.ป.ช.จะพบว่าป.ป.ช.ไม่รายงานการไต่สวนว่าการออกหนังสือเดินทางธรรมดาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณยศในขณะนั้นมาจากข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ และเป็นการคืนสิทธิการเดินทางให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งตนไม่เคยสั่งการให้ดำเนินการในการคืนหนังสือเดินทางธรรมดาให้กับพ.ต.ท.ทักษิณ แต่เป็นเพียงการที่ข้าราชการระดับสูงได้ประชุมพิจารณาและมีบันทึกสอบถามมายังตนในฐานะรมว.ต่างประเทศเท่านั้น จึงยืนยันว่าการทำความเห็นภายหลังมีบันทึกเข้ามานั้นไม่ได้เป็นการสั่งการแต่อย่างใด

“คณะกรรมการป.ป.ช.พยายามเร่งรีบในการดำเนินการกับผม และแม้แต่ข้าพเจ้าก็รู้สึกเองว่าสนช.ก็เร่งรีบดำเนินการถอดถอนข้าพเจ้าเช่นกัน ถ้าเทียบกับระยะเวลาที่รัฐมนตรีท่านอื่นและนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ถูกถอดถอนไปแล้วจะเห็นได้ว่าสนช.เริ่มต้นแจ้งไปวันที่ 28 ต.ค.2557 ถอดถอน 23 ม.ค.2558 ใช้เวลา 87 วัน ถอดถอนพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต เริ่มต้นแจ้งไปวันที่ 16 มิ.ย.2559 ถอนถอน 16 ก.ย.2559 ใช้เวลา 92 วัน ส่วนของผม สนช.เริ่มต้นแจ้งวันที่ 17 ก.พ. 2560 ถอดถอน 30 มี.ค.2560 ใช้เวลา 41 วัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ต้องถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ว่าการพิจารณาของสนช.ได้ดำเนินการและให้ความเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าอย่างไรบ้าง”นายสุรพงษ์ กล่าว

อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ส่วนตัวยังคงเชื่อว่ายังจะได้เห็นความยุติธรรมในสภาอันทรงเกียรติที่เป็นสถานที่ออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้กับประชาชนทั้งประเทศ และสภาจะได้ดำเนินการได้ถูกต้องตามบทบัญญัติของกฎหมายและดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม และพวกท่านจะได้ตอบลูกหลานให้เห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมยังคงเป็นที่พึ่งของคนไทยได้ต่อไป

สำหรับการลงมติถอดถอนนั้นจะมีขึ้นในวันที่ 30 มี.ค. โดยหากสนช.มติ 3 ใน 5 จากจำนวนสมาชิกสนช. คือ 150 คน จากจำนวนสมาชิกสนช.ทั้งหมด 250 คน จะมีผลให้ต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือในทางราชการเป็นเวลา 5 ปี