posttoday

รัฐบาลยันสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน

17 กุมภาพันธ์ 2560

โฆษกรัฐบาล ชี้ สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ย้ำ กฟผ.ดำเนินการรัดกุมทุกขั้นตอน วอนผู้เห็นต่างแสดงความเห็นสร้างสรรค์ ไม่ก่อความวุ่นวาย

โฆษกรัฐบาล ชี้ สร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ย้ำ กฟผ.ดำเนินการรัดกุมทุกขั้นตอน วอนผู้เห็นต่างแสดงความเห็นสร้างสรรค์ ไม่ก่อความวุ่นวาย

พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่เครือข่ายต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินออกแถลงการณ์ขอให้รัฐบาลยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ อ.เทพา จ.สงขลา และที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ โดยนัดรวมตัวคัดค้านที่ทำเนียบรัฐบาลในเร็ว ๆ นี้ ว่า รัฐบาลตระหนักถึงความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของพื้นที่ภาคใต้ไม่น้อยไปกว่าคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน ดังนั้น เป้าหมายของการทำให้คนมีไฟฟ้าใช้จึงอยู่บนพื้นฐานของการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น

“ปี 2556 เกิดไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ใน 14 จว.ภาคใต้เกือบ 3 ชม. และความต้องการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันไม่มีโรงไฟฟ้าเป็นของตนเอง แต่ต้องพึ่งไฟฟ้าที่ส่งไปจากภาคกลาง และ หากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็จะเกิดความเสี่ยงเรื่องพลังงาน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป”

พลโท สรรเสริญ กล่าวต่อว่า หากผู้คัดค้านยอมรับว่าความต้องการใช้ไฟฟ้ามีมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้า ก็ต้องเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวให้กับประเทศและคนส่วนใหญ่ในภาคใต้ด้วย เพราะที่ผ่านมารัฐบาลพยายามรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด แต่ยังไม่เห็นข้อเสนอที่ชัดเจนว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร มีแต่เพียงออกมาคัดค้าน อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (17 ก.พ. 60 )จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด

ที่ผ่านมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พิจารณาอย่างรอบด้านแล้ว  จนได้ข้อสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินมีความเหมาะสมมากที่สุดในแง่ของการลงทุน เมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ลม ปาล์มน้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติเหลว พร้อมทั้งได้ดำเนินการตามหลักวิชาการทั้งการศึกษาคุณภาพอากาศในรัศมีมากกว่า 5 กม.จากจุดสร้างโรงไฟฟ้า ครอบคลุมพื้นที่กว้าง 30 กม. ยาว 30 กม. หรือคิดเป็นพื้นที่ 900 ตร.กม. รวมถึงศึกษาข้อมูลด้านทะเลและชายฝั่ง การใช้น้ำและระบายน้ำอย่างละเอียดในรัศมีมากกว่า 5 กม.และพื้นที่บางส่วนของ จ.ปัตตานีด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล การประกอบอาชีพประมง เกษตรกรรม และวิถีชุมชนตามที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ กฟผ.ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในหลายพื้นที่ และไม่เคยปิดกั้นพี่น้องประชาชนจากจังหวัดใกล้เคียงทั้ง จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งยังใช้สื่อประชาสัมพันธ์ เช่น วิทยุชุมชน เว็บไซต์ และเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่ปรึกษาลงพื้นที่พูดคุยกับประชาชนเป็นรายกลุ่มและรายครัวเรือน เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

“รัฐบาลขอเรียกร้องให้กลุ่มผู้คัดค้านแสดงความเห็นอย่างสร้างสรรค์ ไม่กระทำการที่ขัดต่อกฎหมาย หรือสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น โดยยืนยันว่าเมื่อรัฐบาลยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านแล้ว ท่านก็ควรรับฟังรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน ”