posttoday

"มีชัย"เผยวางกรอบแก้รธน.ฉบับประชามติ15วัน

17 มกราคม 2560

"มีชัย" เผย วางกรอบแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ15วัน พร้อมสนับสนุนแนวทางปรองดอง

"มีชัย" เผย วางกรอบแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ15วัน พร้อมสนับสนุนแนวทางปรองดอง

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะคณะทำงานกฤษฏีกาชุดพิเศษ เพื่อปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติว่า วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา16.30 คณะทำงานกฤษฏีกาได้นัดประชุมเพื่อพิจารณากรอบและการทำงานเบื้องต้น รวมถึงระยะเวลาที่ต้องพิจารณา โดยเบื้องต้นคาดว่า คณะทำงานฯ จะมีเวลาทำงานประมาณ 15 วัน จากระยะเวลาทั้งสิ้น 30 วันเพราะต้องเผื่อเวลาให้ฝ่ายอาลักษณ์จารด้วย ส่วนประเด็นข้อสังเกตนั้นตนยังไม่ทราบว่าทางสำนักราชเลขาธิการจะมีข้อสังเกตใดๆ ที่มาพร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่นายกฯ ขอรับพระราชทานคืนมาหรือไม่ ดังนั้นตนยังประเมินไม่ได้ว่าการแก้ไขหรือเติมข้อความใดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติจะมีความยากหรือง่ายเพียงใด

ผู้สื่อข่าวถามว่าการแก้ไขข้อความในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติต้องสอดคล้องกับมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่4) พ.ศ. 2560  หรือไม่  นายมีชัย กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบว่าจะมีประเด็นดังกล่าวในข้อสังเกตหรือไม่ แต่หากมีต้องพิจารณาให้สอดคล้องกันในเนื้อความของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  เนื่องจากตามความของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ในประเด็นดังกล่าวอ้างไปยังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ส่วนจะมีประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยหรือไม่นั้นต้องพิจารณาจากข้อสังเกตเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นายมีชัย กล่าวว่า กรธ. ได้อนุมัติหลักการ ในเนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)  แล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาหลักการของร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินต่อ ซึ่งการทำงานโดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อถามถึงการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ การปรองดองและการปฏิรูปของรัฐบาล ประธาน กรธ. กล่าวว่า  ถือว่าเป็นการทำงานล่วงหน้าก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ถือว่าสามารถทำได้และไม่มีผลกระทบภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งได้วางหลักการและแนวทางต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูป ปรองดอง และยุทธศาสตร์ชาติแล้ว เพราะหากคณะทำงานของรัฐบาลได้พิจารณาเนื้อหาสามารถส่งต่อให้กับคณะกรรมการด้านต่างๆ ตามที่มีกฎหมายซึ่งออกตามบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดได้ และหากเนื้อหาที่เสนอโดยคณะกรรมการของรัฐบาลมีความสอดคล้องคณะกรรมการตามกฎหมายที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่สามารถนำไปสานต่อได้