posttoday

สปท.เดือด! ถกปัญหาปฏิรูปสาธารณสุข

16 มกราคม 2560

สปท.ค้านวิธีปฏิรูประบบสาธารณสุข ปมออกกฎหมายล้วงเงินกองทุน งัดมติงดออกเสียงมากกว่าเห็นด้วย จนกมธ.ยอมถอยและขอแก้ไขก่อนเสนอใหม่30 วัน

สปท.ค้านวิธีปฏิรูประบบสาธารณสุข ปมออกกฎหมายล้วงเงินกองทุน งัดมติงดออกเสียงมากกว่าเห็นด้วย จนกมธ.ยอมถอยและขอแก้ไขก่อนเสนอใหม่30 วัน

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) มีความเห็นชอบร่วมกันให้ถอนรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เรื่อง การปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข และร่างพ.ร.บ. จำนวน 3 ฉบับได้แก่ 1.ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... 2.ร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่  ...) พ.ศ. ....และ3. ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ตามที่นายอโณทัย ฤิทธิปัญญาวงศ์ สมาชิกสปท.ในฐานะประธานคณะกมธ.เสนอต่อที่ประชุม

ทั้งนี้ การถอนรายงานฉบับดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีที่สมาชิกสปท.จำนวนมากไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะการตั้งกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขที่นำเงินส่วนหนึ่งมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลจำนวนมากมีปัญหาเรื่องสถานะทางการเงิน ซึ่งจำเป็นต้องนำเงินของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาช่วยอุ้มสถานะทางการเงินของโรงพยาบาลด้วย อีกทั้งยังมีข้อสงสัยว่าเมื่อกรณีที่มีการนำเงินของกองทุนคุ้มครองผู้ได้รับผลกระทบจากการบริการสาธารณสุขไปจ่ายให้กับผู้เสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์แล้วจะมีการฟ้องร้องแพทย์และพยาบาลโดยตรงเพื่อเรียกค่าเสียหายได้อีกหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คณะกมธ.ฯได้ชี้แจงโดยยืนยันว่าข้อเสนอของคณะกมธ.ฯมาจาการแสดงความคิดเห็นจากตัวแทนสภาวิชาชีพอย่างหลากหลายแล้ว จึงไม่ได้เป็นการคิดขึ้นเองของคณะกมธ.ฯแต่อย่างใด แต่สมาชิกสปท.ท้วงติงว่ากระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้ควรทำอย่างรอบด้าน โดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียมาให้ข้อมูลและจัดประชุมอย่างเป็นทางการไม่ใช่แค่เชิญตัวแทนมาพบคณะกมธ.เท่านั้น จึงเห็นว่าคณะกมธ.ฯควรถอนรายงานออกไปเพื่อไปทบทวนใหม่ แต่คณะกมธ.ฯยืนยันที่จะให้ที่ประชุมสปท.ลงมติในรายงานดังกล่าว

ต่อมา นางสาววลัยรัตน์  ศรีอรุณ รองประธานสปท.คนที่ 2 ในฐานะประธานการประชุมดำเนินการให้ที่ประชุมสปท.ลงมติว่าจะเห็นชอบกับรายงานฉบับนี้หรือไม่ โดยปรากฏว่าที่ประชุมมติเห็นด้วย48 เสียง ไม่เห็นด้วย 26 เสียง งดออกเสียง 77 เสียง ผลมติที่ออกมาทำให้สมาชิกสปท.เสนอให้รองประธานสปท.ตีความว่าในกรณีที่มีคะแนนงดออกเสียงมากกว่าคะแนนเห็นด้วยจะถือว่าสปท.มีมติในเรื่องนี้อย่างไร

ทั้งนี้ สมาชิกสปท.ได้มีการเสนอให้ลงมติใหม่อีกครั้ง แต่คณะกมธ.เห็นว่าไม่ต้องลงมติใหม่ เพราะในเมื่อคะแนนเสียงเห็นด้วยมีมากกว่าคะแนนไม่เห็นด้วยต้องถือว่าที่ประชุมสปท.ได้เห็นด้วยกับรายงานของคณะกมธ.แล้ว สุดท้ายนายอโณทัย จึงได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าจะขอถอนรายงานดังกล่าวไปปรับปรุงตามข้อเสนอของสมาชิกสปท.และนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมใหม่ภายใน 30 วัน