posttoday

ฎีกายกฟ้อง "จตุพร" หมิ่นประมาท ‘สุเทพ’

02 ธันวาคม 2559

ศาลฎีกายกฟ้อง "จตุพร" หมิ่นประมาท ‘สุเทพ’ เตรียมการใส่ร้ายเสื้อแดงต่างด้าวร่วมม็อบปี 52 ศาล ชี้ แถลงข่าวจำเลยเป็นการโต้ตอบทางการเมือง

ศาลฎีกายกฟ้อง "จตุพร" หมิ่นประมาท ‘สุเทพ’ เตรียมการใส่ร้ายเสื้อแดงต่างด้าวร่วมม็อบปี 52 ศาล ชี้ แถลงข่าวจำเลยเป็นการโต้ตอบทางการเมือง

เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.855/2553 ที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายจตุพร  พรหมพันธุ์ ประธานแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)เป็นจำเลย ในความผิดหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 , 328 สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.52 นายจตุพร ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นายสุเทพ โจทก์เตรียมดำเนินการใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง โดยให้คนต่างด้าว 5,000 คน แฝงตัวเข้าร่วมชุมนุมกับนปช.หรือ กลุ่มคนเสื้อแดงเพื่อไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณถ.ราชดำเนิน

ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.54 ให้ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าทางนำสืบ พ.ต.อ.วิชัย สังข์ประไพ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็น ผบก.น.1 รับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยควบคุมการชุมนุมได้เบิกความว่า ทางการข่าวทราบว่ามีบุคคลต่างด้าวมาร่วมชุมนุมคนเสื้อแดงซึ่งได้พยายามควบคุม ขณะที่ทางการสืบสวนสอบสวนพบว่าเหตุการณ์การชุมนุมบางครั้งสามารถถูกสร้างสถานการณ์ได้ทุกฝ่าย การแถลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ ถึงการทำหน้าที่ของโจทก์ที่ติดตามดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ซึ่งเป็นการแสดงความคิดเห็นเพื่อความชอบธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่ไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ต่อมานายสุเทพ โจทก์ ยื่นอุทธรณ์แล้วศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 ส.ค.56 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องจึงยื่นฎีกาต่อ

โดยวันนี้ศาลให้เบิกตัวนายจตุพร จำเลย มาจากศาลพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งนายจตุพร มีสีหน้ายิ้มแย้มและทักทายกับแกนนำนปช.ที่มาให้กำลัง อาทิ นพ.เหวง โตจิราการ
และนางธิดา ถาวรเศรษฐ

ทั้งนี้ ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้วเห็นว่านายสุเทพ โจทก์ขณะดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รับผิดชอบดูแลความเรียบร้อยการชุมนุม ส่วนนายจตุพรจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้จัดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขณะนั้นเพื่อให้มีการยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

นายสุเทพ โจทก์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้แถลงข่าวว่าจะมีคนต่างด้าวมาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง จึงเตือนผู้ประกอบการโรงงานต่างๆโดยเฉพาะบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลกำชับห้ามไม่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งโจทก์ได้ข้อมูลมาจาก สำนักข่าวกรองแห่งชาติ และแหล่งข่าว

โดยข้อความนั้น ย่อมส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของจำเลยซึ่งเป็นแกนนำ นปช. อีกทั้งจำเลยยังเคยตั้งกระทู้ถามโจทก์ในรัฐสภาถึงเรื่องนี้ จากนั้นจำเลยจึงได้มีการแถลงข่าวตอบโต้คำพูดของโจทก์ ซึ่งชั้นพิจารณานายจตุพร จำเลย ก็เบิกความว่า หากตัวจำเลยไม่ได้แถลงข่าวอาจจะเกิดเหตุการณ์ตามที่โจทก์อ้าง การแถลงข่าวของจำเลยเป็นการแถลงข่าวดักคอโจทก์

ทั้งนี้ พยานโจทก์ที่นำมาเบิกความอ้างว่าได้ข่าวกรองว่าจะมีต่างด้าวเข้ามาร่วมชุมนุมกับนปช.นั้น ก็เบิกความยอมรับว่าไม่ได้เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องการวิเคราะห์หรือหาข่าวเป็นพียงผู้มีหน้าที่ให้คำปรึกษากับผอ.สำนักข่าวกรองทางด้านกฎหมาย และโจทก์ก็ไม่ได้นำ ผอ.สำนักข่าวกรองมาสืบข้อเท็จเกี่ยวกับเรื่องการแฝงตัวของต่างด้าวในการชุมแต่อย่างใด

ขณะที่จำเลยมีนายอารีย์ ไกรนรา พยาน เบิกความสอดคล้องกับ พ.ต.อ.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 ขณะนั้นว่าจะมีผู้เข้ามาก่อเหตุในพื้นที่ชุมนุมจนนำไปสู่การจับกุมตัวได้ 3 ราย และก็ไม่มีเหตุตามที่โจทก์กล่าวอ้างเกิดขึ้น ส่วนเหตุที่มีการพบวัตถุระเบิดในการชุมนุมซึ่งหลังจากการตรวจสอบพบว่าเป็นการสร้างสถานการณ์โดยใช้ระเบิดปลอมโดยการสร้างสถานการณ์ดังกล่าวไม่แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของกลุ่มใด อาจจะเป็นฝีมือของรัฐบาลหรือผู้ชุมนุมก็ได้  คำเบิกความ พ.ต.อ.วิชัย ถึงเรื่องดังกล่าวจึงเป็นคำเบิกความของข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้เสียย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือประกอบกับพรรคการเมืองของนายสุเทพโจทก์ และนายจตุพร จำเลย ต่างเป็นคู่แข่งปฏิปักษ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน

 ดังนั้น การที่นายสุเทพ โจทก์ แถลงข่าวผ่านทางหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ ว่าจะมีคนต่างด้าว แฝงตัวชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง ไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ บริเวณ ถ.ราชดำเนิน ย่อมทำให้บุคคลทั่วไปที่ได้รับฟังเกิดความเสื่อมเสียและประชาชนคลางแคลงสงสัยในตัวจำเลย จำเลยย่อมที่จะมีสิทธิโต้ตอบโดยสุจริตเพื่อป้องกันส่วนได้ของตัวเอง

ฎีกาของนายสุเทพ โจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย จึงพิพากษายืนยกฟ้อง