posttoday

"จรัญ"แจงคำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่ตีความเกินคำขอ

30 กันยายน 2559

จรัญ ตุลาการศาลรธน. แจงคำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่ตีความเกินคำขอยึดกรอบตามรธน. ปฏิเสธเปิดทางนายกฯ คนนอก

จรัญ ตุลาการศาลรธน. แจงคำวินิจฉัยศาลรธน.ไม่ตีความเกินคำขอยึดกรอบตามรธน. ปฏิเสธเปิดทางนายกฯ คนนอก

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ไปปรับแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับคำถามพ่วง ว่า เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ที่กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า ร่างรัฐธรรมนูญชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นว่าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกินคำขอ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยตามคำขอของใคร แต่วินิจฉัยตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่ามี 2 ประเด็น คือ 1.ร่างของกรธ. กำหนดเรื่องที่ให้สมาชิกรัฐสภาในวาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มีส.ส. ซึ่งไม่ตรงกับวรรคแรกของคำถามพ่วงที่เขียนไว้ว่า "ในระหว่างห้าปีแรกนับจากมีรัฐสภา"ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติด้วยคะแนนเสียง 8 ต่อ 1 ว่าต้องใช้กรอบเวลาเดียวกัน ไม่เช่นนั้นจะขัดแย้งกันหมด จึงขอให้มีการแก้ไขเรื่องกำหนดเวลาและการเริ่มนับเวลาให้ตรงกับคำถามพ่วง ไม่ใช่วาระเริ่มแรกนับตั้งแต่มีส.ส. เพราะวาระเริ่มแรกหมายถึงครั้งเดียวหลังเลือกตั้งส.ส. จึงทำให้เกิดข้อคิดว่าถ้าตั้งนายกฯ ไปครั้งหนึ่งหลังจากนั้น นายกฯลาออก หรือมีเหตุให้เปลี่ยนรัฐบาล ต้องตั้งนายกฯใหม่ก็ยังอยู่ใน 5 ปีแรก ตามผลออกเสียงประชามติของประชาชน แต่เกิดข้อติดขัดไม่สามารถเลือกคนจากบัญชีรายชื่อได้ แล้วจะขอยกเว้นเพื่อปลดล็อค ตามมาตรา 272 วรรคสองก็จะทำไม่ได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติ

"ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ให้ตรวจสอบตามคำขอของกรธ.หรือตามคำขอของใคร ดังนั้นจะมีคำขอหรือไม่ก็ไม่ใช่ประเด็น เพราะเมื่อศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบพบว่าไม่สอดคล้องกับผลออกเสียงประชามติ ก็ต้องแก้ให้ถูกต้อง เพราะไม่ใช่การไปใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ไม่ให้พิพากษาเกินคำขอ มันคนละระบบคนศาล จึงต้องตัดประเด็นเรื่องคำขอไปเลย"นายจรัญ กล่าว

นายจรัญ กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นที่ 2 ที่ศาลรัฐธรรมนูญให้แก้ไขคือ การเข้าชื่อขอยกเว้นการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อ ซึ่งกรธ.เห็นว่าให้เป็นเรื่องของส.ส.เข้าชื่อกัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเข้าชื่อด้วย เพราะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการอนุมัติยกเว้น ก็ควรให้สมาชิกของรัฐสภาร่วมกันทำ เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหาประเทศในกรณีที่ไม่สามารถแต่งตั้งคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อได้ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง โดยไม่ได้ไปลิดรอนสิทธิของส.ส.ที่มีอยู่เดิม ส่วนการเสนอชื่อนายกฯ ก็ยังให้เป็นอำนาจของส.ส.ตามรัฐธรรมนูญบทหลักในมาตรา 159

เมื่อถามว่า กรณีที่มีเสียงวิจารณ์ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นการเปิดทางให้มีนายกฯคนนอกนั้น นายจรัญ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพราะส.ส.ต้องเสนอชื่อคนจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งอย่างน้อยน่าจะมี 3 พรรคที่ได้คะแนนเสียงเกิน 5 เปอร์เซ็นต์ในสภาเท่ากับมี 9 คน แต่ถ้าติดล็อคว่าที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบก็เท่ากับว่าต้องเลือก 9 รอบจาก 9 คน ดังนั้น จะปล่อยให้ประเทศอยู่ในภาวะอย่างนั้นนานๆ ก็อันตราย และไม่มีทฤษฎีใดที่จะสำคัญไปกว่าความมั่นคงอยู่รอดของประเทศชาติ ศาลรัฐธรรมนูญจึงแก้ไขให้ส.ว.มีส่วนร่วมในการเข้าชื่อเสนอขอยกเว้นนายกจากบัญชีรายชื่อได้ด้วย ซึ่งก็ไม่ได้ตัดสิทธิส.ส.


"สำหรับกรณีที่มีข่าวว่า กรธ.บางคนอยากพบกับศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอความชัดเจนในการปรับแก้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะมีการพบกันระหว่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกับกรธ.หรือไม่เพราะเรื่องนี้เป็นมติร่วมกันขององค์คณะทั้งหมด"ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว