posttoday

กรธ.แจงยึดหลักประชาธิปไตยให้สส.เสนอชื่อนายกฯเท่านั้น

24 สิงหาคม 2559

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญแจงยึดหลักการประชาธิปไตย ให้สส.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯเท่านั้น เพราะเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้า

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญแจงยึดหลักการประชาธิปไตย ให้สส.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯเท่านั้น เพราะเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้า

นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถลงว่า ที่ประชุม กรธ.ได้พิจารณาการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของสนช.โดยกรธ.ยืนยันตามหลักการเดิมของร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติโดย ให้สส.มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯได้เท่านั้น เพราะ สส.เป็นผู้ที่ประชาชนเลือกเข้ามา  ขณะที่ สว.มีหน้าที่ร่วมลงมติบุคคลที่จะเป็นนายกฯในระยะเวลา 5 ปี ตามคำถามพ่วงเท่านั้น

ทั้งนี้ กรณีถ้ามีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกฯแล้ว จะต้องยืนยันตามผู้ที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองเป็นผู้เสนอ ตามมาตรา 88 และ 159 ตามเดิมหลักการเดิม แต่หากรัฐสภาไม่สามารถเลือกบุคคลได้ตามบัญชีของพรรคการเมือง จะเป็นหน้าที่ของ สส. 251 ขึ้นไป เพื่อยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภา เรียกประชุมเพื่อหาเสียงสมาชิกรัฐสภา 2 ใน 3 เพื่องดเว้นการเสนอชื่อนายกฯในบัญชี ดังนั้น สส.จะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯเท่านั้น ไม่ว่า จะเป็นคนในหรือคนนอก       

นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวว่า การจะนำบุคคลนอกบัญชีมาเป็นนายกฯนั้น จะสามารถทำได้ครั้งเดียว ตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้น หากสภาชุดแรกหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ยุบสภา มาตรา 272 วรรคสอง ก็จะไม่มีผลบังคับใช้อีกต่อไป โดย สว.จะมีสิทธิเห็นชอบบุคคลตามที่พรรคการเมืองเสนอตามบัญชีรายชื่อภายใน 5 ปีเท่านั้น นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

อย่างไรก็ตามทั้งหมดหลักการเบื้องต้น  กรธ.จะนัดประชุมเพื่อปรับถ้อยให้เหมาะสมก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความซึ่งคาดว่าจะเป็นต้นสัปดาห์หน้า จากนั้นจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กรธ.ปรับแก้ ก็จะทำความเห็นเป็นข้อๆส่งมาให้กรธ.ปรับตามที่ศาลรัฐธรรมนูญแนะนำเพื่อไม่ต้องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญอีกหลังการปรับแก้    

เมื่อถามว่า สาเหตุที่ กรธ.ไม่สนองความต้องการของ สนช.ที่อยากให้ ส.ว.มีสิทธิเสนอนายกฯได้เป็นเพราะอะไร นายนรชิต กล่าวว่า ตามหลักการสำคัญของมาตรา 159 บัญญัติขึ้นให้สอดคล้องกับหลักการแต่งตั้งนายกฯของประเทศที่ปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ซึ่งจะต้องมาจากการดำเนินการของสภาผู้แทนราษฎร และได้รับการสนับสนุน สว่นมาตรา 272 เป็นบทเฉพาะกาลที่ใช้เป็นการชั่วคราวเฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อที่ประกาศให้ประชาชนทราบเพราะเมื่อได้รับการยกเว้นแล้วก็ต้องย้อนกลับไปให้ สส.ดำเนินการต่อไป