posttoday

แจงยูเอ็นพ.ร.บ.ประชามติให้เสรีภาพแสดงความเห็น

29 กรกฎาคม 2559

กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงยูเอ็น พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้เสรีภาพแสดงความเห็น แต่จำเป็นต้องมีบทลงโทษผู้ทำผิด เพื่อรักษาความสงบวุ่นวาย

กรมคุ้มครองสิทธิฯ แจงยูเอ็น พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้เสรีภาพแสดงความเห็น แต่จำเป็นต้องมีบทลงโทษผู้ทำผิด เพื่อรักษาความสงบวุ่นวาย

เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) นางกรรณิการ์ แสงทอง อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ แถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ กรณีเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) เผยแพร่ความเห็นของผู้เสนอรายงานพิเศษว่าด้วยเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกเกี่ยวกับการแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ 7 ส.ค.นี้ เกี่ยวกับการเรียกร้องรัฐบาลเปิดกว้างให้มีการโต้อภิปรายโดยเสรีก่อนการออกเสียงประชามติ และเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการใช้ มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 โดยอ้างอิงข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยร่วมลงนามอยู่ด้วย

นางกรรณิการณ์ กล่าวว่า จากรณีดังกล่าว ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้กำหนดหลักประกันเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว โดยพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 เป็นกฎหมายที่รองรับหลักประกันดังกล่าว ทั้งยังเป็นกฎหมายสำคัญที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้ในการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ และคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ การออกเสียงประชามติ และการประกาศผลการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีเจตนารมณ์ในการรับรองสิทธิของชนชาวไทย ในการแสดงความคิดเห็นโดยการออกเสียงประชามติ โดยจะต้องไม่มีผู้ใดแทรกแซงด้วยการก่อความวุ่นวาย ก่อให้การออกเสียงเกิดความไม่เรียบร้อย

อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวอีกว่า การที่พ.ร.บ.ฉบับนี้ จำเป็นต้องมีบทกำหนดความผิดและโทษทางอาญาสำหรับผู้ที่ก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามบทบัญญัติมาตรา 61 วรรคสองนั้น เป็นการกำหนดโดยคำนึงถึงความจำเป็นตามหลักของกฎหมายเพื่อป้องกันการแสดงความคิดเห็นที่มีความมุ่งหวังเพื่อให้ผู้ที่มีสิทธิไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง รวมทั้งการก่อความวุ่นวาย อันจะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความปลอดภัยของสังคมในภาพรวม โดยมีเจตนารมณ์เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะร่วมการลงประชามติ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญโดยสุจริต

นางกรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ซึ่งสอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้ง บทบัญญัติฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ มาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559  สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อบทที่ 19 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (ก) และเป็นไปตามโดยชอบด้วยกฎหมายดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีการจับกุมผู้ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ทางกรมคุ้มครองสิทธิฯมองว่าไม่ได้เป็นการละเมิดสิทธิมุนษยชนใช่หรือไม่ นางกรรณิการ์ กล่าวว่า เราต้องดูว่าการจับกุมแต่ละครั้งนั้นเป็นเรื่องอะไร ซึ่งความจริงอาจจะเป็นข้อหาอื่นนอกจาก มาตรา 61 ก็ได้ เราจึงต้องดูเป็นกรณี ว่าข้อเท็จจริงคืออะไร เพาะบางส่วนอาจเป็น มาตรา 61 และบางส่วนอาจจะนอกเหนือจากนี้

ถามถึงความเห็นของบรรยากาศการทำประชามติที่มีข่าวเกี่ยวกับการจับกุม การแสดงความคิดเห็นที่มีการโพสต์ลงในสื่อสังคมออนไลน์ จะทำให้ประชาชนไม่กล้าออกแสดงความคิดเห็นหรือไม่ นางกรรณิการณ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่เป็นอย่างนั้น ในส่วนของมาตรา 61 ที่มีการบัญญัติไว้ ซึ่งในวรรสองก็ได้มีการอธิบายความไว้อยู่แล้วว่ามีการกระทำอะไรบ้างที่สามารถทำได้และไม่ได้