posttoday

“มีชัย”ย้ำถ้ารธน.-คำถามพ่วงผ่านเลือกตั้งมีแน่นอน

27 กรกฎาคม 2559

ประธาน กรธ. ย้ำ ถ้ารธน.-คำถามพ่วงผ่านเลือกตั้งมีแน่นอน ลั่นกรธ.ทำงานเต็มที่เพื่อให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญ

ประธาน กรธ. ย้ำ ถ้ารธน.-คำถามพ่วงผ่านเลือกตั้งมีแน่นอน ลั่นกรธ.ทำงานเต็มที่เพื่อให้ประชาชนเข้าใจรัฐธรรมนูญ

วันที่  27 ก.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการกล่าวบรรยายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญต่อผู้บริหารและพนักงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ต่อประเด็นอายุของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายหลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า หากรับร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วงผ่าน ต้องนำกลับมาแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 1 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อแก้ไขเสร็จต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณา  หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ตรงกับเนื้อหาต้องนำไปปรับแก้ไขให้ตรง ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นจะทำให้เสียเวลาไปประมาณ 3-4เดือน และกว่าจะเริ่มกระบวนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องกินเวลาอีกหลายเดือน จากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลต้องเข้าสู่กระบวนการออกกฎหมายลูก และเมื่อกฎหมายลูกทำเสร็จจะต้องมากำหนดการเลือกตั้งภายใน 150  วัน

นายมีชัย กล่าวต่อว่า กรณีที่รัฐธรรมนูญผ่าน จะทำให้ช่วงเวลาที่จะมีเลือกตั้งอยู่ในช่วงปลายปี 2560 หรือประมาณต้นปี 2561 แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับการทำกฎหมายลูกด้วยว่าจะมีปัจจัยหรือเงื่อนไขใดที่ต้องทำให้เพิ่มเวลาดำเนินการต่อหรือไม่ ซึ่งแนวทางการทำงานถูกวางไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ขณะที่ประเด็นที่มีการเรียกร้องให้คว่ำรัฐธรรมนูญนั้น มองว่าตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. ลั่นวาจาไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งภายในปี 2560

“ดังนั้น คสช. ต้องเคี่ยวเข็ญให้จัดการเลือกตั้งให้ได้ภายในเวลาที่ระบุไว้ การที่จะให้นายกฯอยู่ยาว จึงต้องคว่ำรัฐธรรมนูญ จึงไม่ใช่ความจริง ส่วนกระบวนการดังกล่าวจะมีปัจจัยแทรกซ้อนหรือไม่ ผมไม่ได้เรียนทางโหราศาสตร์ จึงไม่ทราบว่าดวงดาวไหนจะทับซ้อนดวงดาวใด จึงตอบไม่ได้ ซึ่งหากพูดตามกระบวนการปกติ จะเป็นแบบนั้น ส่วนจะเลือกตั้งเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับคำถามพ่วงผ่านหรือไม่ แต่ความช้าหรือเร็วก็ไม่ห่างกันเกิน 2-3 เดือน”นายมีชัย ระบุ

ส่วนกรณีที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งย้ายนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญจะมีผลต่อการทำประชามติหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบในรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าว แต่คิดว่าคงไม่มีผลต่อการทำประชามติ เพราะประชาชนที่จะตัดสินใจว่าจะลงคะแนนอย่างไรนั้น ล้วนมีปัจจัยอยู่แล้ว และปัจจัยจะไม่เปลี่ยน ส่วนกรณีที่นายบุญเลิศเป็นเครือข่ายของพรรคเพื่อไทยนั้น มองว่าหากมีเครือข่ายจริงคงสั่งให้เครือข่ายไม่รับมาตั้งแต่ต้น

สำหรับกรณีที่คุณหญิง สุดารัตน์  เกยุราพันธุ์ แกนนำกทม.พรรคเพื่อไทย ท้วงติงถึงการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญที่ยังเข้าไม่ถึงประชาชน นายมีชัย ระบุว่า กรธ.ทำได้เท่านี้ เพราะเหมือนกับที่นักข่าวหนึ่งคนได้สัมภาษณ์ แต่ไม่ได้สัมภาษณ์นายกฯดังนั้น กรธ.จำนวน 21 คนทำได้เท่านี้ แต่มาถึงวันนี้ ส่วนตัวมองว่าคนส่วนใหญ่รู้เรื่องรัฐธรรมนูญมากขึ้น แต่คงยากที่จะบอกว่าคนรับรู้แล้ว 100 % เพราะคนบางคนก็ปิดประตูไม่รับรู้ หรือคนเจ็บไข้ก็ไม่รับรู้ หรือคนที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่รู้

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ที่ประชาชนซึ่งใช้ภาษายาวีในการสื่อสารทำให้ไม่เข้าใจในเนื้อหา นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าวิทยากรระดับจังหวัด (ครู ก)  ระดับอำเภอ (ครู ข) และ ระดับหมู่บ้าน (ครู ค) จะแปลเป็นภาษายาวีและอธิบายให้คนในพื้นที่เข้าใจได้

สำหรับท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ที่มีแนวโน้มไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลต่อประชามติหรือไม่ ส่วนตัวไม่ขอออกความเห็นก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะแถลงข่าว ซึ่งไม่ขอเดาล่วงหน้า แต่จะให้ความเห็นหลังจากที่มีการแถลงแล้วเสร็จ

นายมีชัย กล่าวถึงประเด็นที่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกแถลงการณ์กดดันให้เปิดเสรีภาพช่วงประชามติว่า ต้องถามยูเอ็นว่าเสรีภาพรวมถึงการไปเอาความเท็จไปให้ประชาชนด้วยหรือไม่ เพราะสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ได้ห้ามคนให้แสดงความเห็น แต่าห้ามคนไม่ให้ไปเอาความเท็จไปพูด ซึ่งคล้ายกับกรณีสมมติที่ยูเอ็นสั่งเจ้าหน้าที่ของยูเอ็น ไม่ให้พูดว่า ยูเอ็นอยู่หลังฉากในการฆ่ากันตายที่ประเทศลิเบีย ประเทศจอร์เจีย หรือประเทศอื่นๆ เพราะประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ความจริง

อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยูเอ็นถือว่าเป็นการปิดเสรีภาพเขาหรือไม่ คำตอบคือไม่เพราะยูเอ็นไม่ได้ทำ ดังนั้น สิ่งที่กำลังห้าม คือ การพูดเท็จ เช่น ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่มีมาตราไหนให้ยุบบัตรทอง แต่มีคนเอาไปพูดทั้งที่ไม่จริง ทั้งนี้ การคำนึงถึงเสรีภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของความสุจริตใจด้วย ส่วนกรณีที่ยูเอ็นออกแถลงการณ์ดังกล่าวอาจมีกระบวนการเบื้องหลัง  ซึ่งตนคิดว่ายูเอ็นต้องเป็นกลางไม่เช่นนั้นจะไม่ได้รับการยอมรับ

"อย่านึกว่าเรื่องเล็กๆ แล้วคนจะปล่อย วันหนึ่งหากเรื่องสะสมมากๆ ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ ยกตัวอย่างที่ผมว่ายูเอ็นห้ามคนพูดเรื่องที่ไม่เป็นความจริงถือเป็นการห้ามใช้เสรีภาพหรือไม่ ซึ่งกรณีที่ประชามติเราให้การมีส่วนร่วม ใครจะพูดอะไร หรือแถลงการณ์อะไรไม่เคยห้าม ทั้งที่สิ่งที่พูดนั้นไม่ตรง เราก็ไม่เคยตอบ เพราะจะไปว่าความคิดเห็นของเขาไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาใครเคยเห็น กรธ. หรือ กกต. ห้ามใครพูดหรือไม่" นายมีชัย กล่าว

เมื่อถามต่อว่า ทำไมบรรยากาศช่วงก่อนออกเสียงประชามติจึงมีการจับกุมจำนวนมาก และแตกต่างจากการลงประชามติ ปี 2550  นายมีชัย กล่าวว่า เพราะคนไม่ได้ใช้ความสุจริตใจในการแสดงความคิดเห็น เพราะร่างรัฐธรรมนูญตั้งใจแก้ปัญหาประเทศ จึงกระทบต่อคนที่เคยทำสิ่งที่คุ้นเคย จึงรู้สึกว่ารุนแรงไปบ้าง แต่ตนคิดว่าทั้งสื่อมวลชนและประชาชนต้องศึกษาเรื่องนี้ และดูตามสิ่งที่มันเป็นจริง