posttoday

"สมชัย"หวั่นคนลงประชามติบนความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง

26 กรกฎาคม 2559

"สมชัย"ห่วงประชาชนลงประชามติบนความเชื่อของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูยอย่างแท้จริง

"สมชัย"ห่วงประชาชนลงประชามติบนความเชื่อของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ​(กรธ.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ร่วมจัดสัมมนาเผยแพร่สาระและประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวยืนยันว่ากระบวนการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในวันที่ 7 ส.ค. นี้ จะเกิดขึ้นตามกำหนดเวลาแน่นอน แม้จะมีกระบวนการฉีกบัญชีรายชื่อผู้สิทธิออกเสียงประชามตินั้น ไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติ

ส่วนกรณีที่มีการตีข่าวและถูกโน้มน้าวให้มองเป็นกระแสป่วนประชามติร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่สร้างกระแส รวมถึงกรณีที่มีการใช้อำนาจรัฐสั่งย้ายผู้ปกครองในพื้นที่เพราะไม่ดูแลหรือรายงานเหตุถือเป็นความอ่อนไหวของผู้ดำเนินการเท่านั้น ซึ่งกกต.ยืนยันความพร้อมต่อการจัดการออกเสียงประชามติที่กกต. จะดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส

สำหรับการประเมินระหว่างการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ส่วนตัวมองว่าแม้ว่าจะมีผู้ออกเสียงใช้สิทธิจำนวนที่ไม่ถึงเกณฑ์ หรือจำนวนน้อย อาจถูกมองในเชิงพฤตินัยว่าผลประชามติจะไม่ถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ แต่ในทางกฎหมายไม่ว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิจำนวนเท่าใด ถือว่าเป็นเสียงของตัวแทนของประชาชน

"การใช้สิทธิอย่างมีคุณภาพ เป็นประเด็นที่ผมห่วง เพราะประชาชนไม่สามารถเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือเนื้อหาของคำถามประกอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมดได้​ ส่วนการแสดงออกของผู้นำกิจกรรม ที่พยายามชี้บอกให้กาซ้ายทั้งหมด หรือ การับ หรือ กาขวาทั้งหมด คือไม่รับ กลายเป็นว่าไม่สนใจสาระว่าร่างรัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้าย ผมมองว่าไม่ผิดกฎหมาย แต่เป็นผู้ที่ทำร้ายประเทศไทย เพราะทำให้การออกเสียงประชามติของคนในสังคมไม่อยู่บนความรู้ความเข้าใจในสาระของร่างรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการให้คนลงประชามติบนความเชื่อของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้การออกเสียงประชามติไม่มีคุณภาพ กรณีที่คนเป็นผู้มีตำแหน่งในบ้านเมือง หรือมีบทบาทนำในสังคมหรือเป็นอาจารย์​มีวุฒิการศึกษาสูง ผมมองว่าไม่สมควรพูด เพราะเป็นการพูดที่ทำร้ายประเทศ" นายสมชัย กล่าว

ขณะเดียวกันกรณีที่มีผู้กังวลว่าหลังจากที่ผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญเหตุการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรนั้น ส่วนตัวมองว่าผลประชามติไม่ว่าจะรับหรือไม่รับ ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลที่เกิดขึ้นเพื่อให้เหตุการณ์ทุกอย่างยุติ โดยมองว่าหากเสียงประชามติผลสรุปคือไม่รับมากกว่า เชื่อว่ารัฐบาลจะนำเสียงท้วงติงของประชาชนต่อบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญไปพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่ไปทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามใจรัฐบาล ส่วนกรณีที่เสียงรับมากกว่าไม่รับ ฝ่ายที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญต้องยุติการเคลื่อนไหว ไม่ควรออกมาเดินขบวนหรือสร้างกระแสไม่ยอมรับ