posttoday

ศาลฎีกาตัดสินคุก6ปี "ชูชีพ-วิทยา" ทุจริตประมูลจัดซื้อปุ๋ย

08 มิถุนายน 2559

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองพิพากษาจำคุก 6 ปี "ชูชีพ หาญสวัสดิ์" และ "วิทยา เทียนทอง" คดีทุจริตประมูลจัดซื้อปุ๋ยวงเงิน 367 ล้านบาท

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองพิพากษาจำคุก 6 ปี "ชูชีพ หาญสวัสดิ์" และ "วิทยา เทียนทอง" คดีทุจริตประมูลจัดซื้อปุ๋ยวงเงิน 367 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้จำคุก นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายวิทยา เทียนทอง อดีตเลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์ คนละ 6 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในฐานความผิดร่วมกันเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ ฮั้วประมูล มาตรา 10 และมาตรา 12 และความผิด ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 คดีทุจริตประมูลจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์เมื่อปี 2544-2545 ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดไว้เมื่อวันที่ 12 ก.ค.2555

คดีนี้อัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชูชีพ และนายวิทยา เป็นจำเลยที่ 1-2 เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2558 ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 17 กรณีร่วมกันทุจริตจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์

คำฟ้องสรุปว่า ช่วงระหว่างวันที่ 17 ก.พ.44-20 ก.ย.45 นายชูชีพ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็น รมว.เกษตรฯ และ นายวิทยา จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเลขานุการ รมว.เกษตรฯ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีเสนอให้มีการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 1.31 แสนตัน วงเงิน 367 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยธรรมชาติเมื่อปี 2545 โดยจำเลยทั้งสองมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอโครงการจัดซื้อปุ๋ยได้กระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 และกระทำการส่อไปในทางทุจริตในการร่วมกันกำหนดคุณสมบัติของผู้เข้าประมูล ซึ่งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เป็นผู้ประมูลได้เพียงรายเดียว ซึ่ง ป.ป.ช.เคยมีหนังสือท้วงติงจำเลยที่ 1 ถึงการกระทำดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉยไม่ตรวจสอบ และยังดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้เขียนบันทึกท้ายโครงการดังกล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า ป.ป.ช.รับทราบเรียบร้อยแล้ว

ศาลเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1-2 ได้รับหนังสือทักท้วงจากหลายหน่วยงาน แต่กลับมีเจตนาประวิงเวลา ไม่ตรวจสอบ และหลังจากทำสัญญาแล้ว ชสท.ได้นำปุ๋ยที่ไม่ได้ตรวจสอบและไม่ได้มาตรฐานไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร ทำให้เกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ภายหลังศาลมีคำพิพากษา เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ ได้คุมตัว นายชูชีพ และ นายวิทยา ไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ