posttoday

"วิษณุ" ระบุรอกฤษฎีกาพิจารณาร่างพรบ.ป้องกันการอุ้มหาย

25 พฤษภาคม 2559

"วิษณุ"ระบุรอกฤษฎีกาพิจารณาพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายแก้ปัญหาทับซ้อนกฎหมายอื่น ชี้ยังใช้ม.44 ได้เพราะมีอำนาจมากกว่าพ.ร.บ.

"วิษณุ"ระบุรอกฤษฎีกาพิจารณาพ.ร.บ.ป้องกันการอุ้มหายแก้ปัญหาทับซ้อนกฎหมายอื่น ชี้ยังใช้ม.44 ได้เพราะมีอำนาจมากกว่าพ.ร.บ.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหาย ว่า รัฐบาลได้มีการลงนามอนุสัญญาเมื่อ 7-8 ปีมาแล้ว จำนวน 2 ฉบับ คืออนุสัญญาป้องกันการทรมาน และอนุสัญญาป้องกันการบังคับให้สูญหาย จึงต้องมีการทำสัตยาบรรณในฉบับที่ 2 โดยเมื่อทำแล้วจะต้องมีพ.ร.บ. หรือกฎหมายลูกออกมาเพื่อรองรับ เพราะถ้าเป็นเพียงอนุสัญญาเมื่อเจ้าหน้าที่ทำผิดก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับเราไม่ต้องการให้ฟ้องในศาลโลก แต่ต้องการฟ้องในศาลไทย ซึ่งขณะนี้ได้ให้กฤษฎีกาตรวจสอบความเรียบร้อยพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากมีหลายกระทรวงทักท้วงในพ.ร.บ.ดังกล่าวหลายมาตรา เนื่องจากไม่มีความรัดกุม และซ้ำซ้อนความผิดพ.ร.บ.ฉบับอื่น

"กฎหมายในลักษณะดังกล่าวมีที่ใช้กันเพราะในเวลาที่อุ้มก็จะมีเรื่องของการกักขัง หน่วงเหนี่ยว การพรากผู้เยาว์ พรากผู้ใหญ่ ก็เป็นอีกความผิดหนึ่ง การอุ้มหายก็เป็นอีกข้อหาหนึ่ง ฉะนั้นจะต้องทำให้ชัดเจน ว่าเจตนาจะอุ้มอย่างเดียวถ้าโดนไปหลายกระทงนับไปนับมาอาจจะโดนประหารชีวิตเอา"นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะครอบคลุมใน 3 เรื่อง ทั้งการอุ้ม การทรมาน และการจำกัดสิทธิ์ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ เขามีเจตนาอย่างนั้น กฤษฎีกาก็ต้องไปตรวจสอบ เพราะมันมีความผิดตามพ.ร.บ.อื่นอยู่ แล้วจะต้องนำมาใช้หรือไม่ ถ้าไม่นำมาใช้ก็ต้องเขียนว่าผิดพ.ร.บ.นี้แล้วก็ต้องไม่ผิดพ.ร.บ.อื่น เพราะการอุ้มหายจะต้องมีพฤติกรรมอื่นมาประกอบด้วยเสมอ โดยพ.ร.บ.นี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าข่ายพฤติกรรมทั้ง 3 อย่าง รวมถึงต้องดูถึงคำสั่ง หรือประกาศ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการควบคุมตัว ที่มีความทับซ้อนกันอยู่ว่าจะต้องมีการแก้ไข หรือต้องมีการยกเลิกอย่างใดอย่างหนึ่ง ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อไป

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมารัฐบาลถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติโจมตี ว่าเจ้าหน้าที่พาตัวบุคคลไปโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา จะเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ. หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า “ถ้าไม่หายก็ไม่เป็นไร มันมีอุ้มหาย และก็ไม่หาย อุ้มเอามาคืน”

เมื่อถามว่า แสดงว่าการใช้ม.44 เพื่อให้อำนาจพนักงานสอบสวนก็ไม่ผิดตามพ.ร.บ.ดังกล่าว นายวิษณุ กล่าวว่า อำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ใหญ่กว่าพ.ร.บ.ฉบับนี้

เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ปัญหาในภาคใต้ที่มีการอุ้มหาย ว่าถ้ามีกฎหมายออกมาแล้วการประกาศใช้กฎอัยการศึก หรือพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะยกเว้นพ.ร.บ.ดังกล่าว หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่เว้น ยังสามารถบังคับใช้ได้ ขณะเดียวกันจะไม่ย้อนถึงคดีที่มีบุคคลสูญหายก่อนหน้า เพราะกฎหมายที่มีโทษอาญาไม่มีผลย้อนหลัง