posttoday

"วิษณุ" เผยรัฐบาลมีแนวคิดจัดเวทีฟังคำถามจากประชาชน

25 พฤษภาคม 2559

"วิษณุ" เผยรัฐบาล มีแนวคิด จัดเวทีรับฟังคำถามจากประชาชนที่ไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ โยนคสช. ตัดสินใจ คลายคำสั่งพรรคการเมืองทำกิจกรรม

"วิษณุ" เผยรัฐบาล มีแนวคิด จัดเวทีรับฟังคำถามจากประชาชนที่ไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ โยนคสช. ตัดสินใจ คลายคำสั่งพรรคการเมืองทำกิจกรรม

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. เวลา 14.30 น.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะจัดเวทีเพิ่มว่า ยังไม่ได้มีการติดต่อกับ กกต. แต่ในส่วนของรัฐบาลยอมรับว่ามีความคิดนี้อยู่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ กกต. แต่อย่างใด เนื่องจากการจัดเวทีเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนที่ดี ส่วนตัวแล้วชื่นชมบรรยากาศและความสร้างสรรค์ในวันนั้นที่ฝ่ายการเมืองเข้าร่วมกว่า 70 พรรค ซึ่งบางคำถามอาจจะดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน แต่อย่างน้อยก็ทำให้รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ บางอย่างเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เป็นการบ่น เป็นการปรารภบ้าง แต่ก็ดีกว่าไม่มีที่ให้ระบาย ตนก็อยากเห็นการจัดเวทีในรูปแบบนี้ และไม่จำเป็นต้องเชิญพรรคการเมืองอย่างเดียว เนื่องจากถ้าให้เขาพูดบ่อยเขาก็ไม่อยากมา วันนั้นต้องขอบคุณบุคคลหลายคน เช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) รวมทั้งนายณัฐวุติ ใสยเกื้อ และนางธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ ปนช. ที่ร่วมอยู่รับฟังกันถึง 5 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 1 ทุ่ม

นายวิษณุ กล่าวว่า แนวทางต่อไปหากประชาชนสนใจ ทางรัฐบาลก็อาจจะจัดเวทีอีก แต่อาจไม่ใช่เรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเรื่องของ กกต. ส่วนประเด็นในการจัด ก็คงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล และประเด็นที่ประชาชนสนใจ เช่น พรบ.อุ้มหาย หรือคดีความต่างๆ เหมือนอย่างที่สื่อมวลชนถามตนอยู่ทุกวัน แค่เปลี่ยนจากสื่อมวลชนเป็นประชาชนถามเท่านั้น ซึ่งตนเคยปรารภกับผู้ใหญ่ และหลายคนก็เห็นด้วย แต่คำถามคือใครจะเป็นผู้ตอบคำถามประชาชน เนื่องจากปัญหามีอยู่คือเราไม่ทราบว่าประชาชนจะถามเรื่องอะไร จึงไม่รู้จะส่งใครไปตอบ จะให้คณะรัฐมนตรีไปนั่งตอบก็เสียเวลา ไม่เหมือนเวที กกต. ที่รู้ประเด็นว่าจะถามเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติ ซึ่งก็ต้องจัดผู้ที่เกี่ยวข้องไปตอบคำถาม หรือจะให้อาจจะให้ตนเป็นผู้ตอบคำถามก็ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ตนไม่รู้จะทำอย่างไร

เมื่อถามถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ ถามถึงการผ่อนคลายคำสั่ง คสช. ที่ให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองได้ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่ารบเร้าอะไรมาก ที่เป็นมีเรื่องมากเป็นเป็นเพราะสื่อชอบถาม หากสื่ออยู่เฉยๆ ผู้ที่มีหน้าที่พิจารณาก็จะทำหน้าที่ไปโดยไม่รู้สึกกดดัน จะสังเกตได้ว่า เวลาสื่อถามทีไรนายกฯเป็นต้องฉุนทุกที จนกระทั่งมีคนมาวิเคราะห์ว่า ทางผู้สื่อข่าวคงไม่อยากให้เกิดการผ่อนคลาย จึงถามประเด็นนี้ขึ้นมา เพื่อให้ตัดไปเลย ซึ่งตนก็คิดว่าจะถามทำไม

ผู้สื่อข่าวถามต่อกรณีที่ นายจตุพร เตรียมตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติ สามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีข้อห้าม ใครก็สามารถตั้งได้ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ข้อควรจะระวังคือการที่จะไปจับว่าเขาทำผิดซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปี  นั้น ต้องมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าผิดจริง ไม่อย่างนั้นจะถูกฟ้องกลับ ตนคิดว่าการกระทำช่วยกันจับตาดุการทุจริตเลือกตั้งส.ส. จะยิ่งดีใหญ่ เพราะในส่วนของการลงประชามติไม่มีอะไรที่เป็นเดิมพันที่ต้องจับกันมาก สมมติว่าหากพบว่ามีการผิดโฆษณาเชิญชวนต่างๆ

"ถามว่าจะสามารถนำไปสู่เรื่องการทำให้ประชามติผ่านหรือหรือไม่ผ่าน หรือจะล้มง่ายๆหรือ คนไทยรู้สึกว่ามาบอกแล้วเชื่อกันง่ายๆอย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่ากฎหมายประชามติ ไม่มีเรื่องยกเลิกประชามติแล้วทำใหม่ เพราะมีแค่ผ่านกับไม่ผ่าน  ถ้าผิดตรงไหนก็ซ่อมใหม่ที่หน่วยนั้น เนื่องจากไม่มีคะแนนที่ยึดโยงกันทั่วประเทศ ซึ่งต่างจากการเลือกตั้งที่มีล้มทั้งประเทศแล้วจัดใหม่ทั้งหมดทั่วประเทศเพราะคะแนนยึดโยงกันหมด จึงมีการล้มแล้วจัดการเรื่องตั้งทั้งประเทศอีกทีหนึ่ง การเวทีเลือกตั้งขึงควรจับตาดูมากกว่า"นายวิษณุกล่าว