posttoday

กกต.ย้ำผอ.เลือกตั้งจังหวัดจัดประชามติโปร่งใส-ใช้งบคุ้มค่า

24 พฤษภาคม 2559

ประธานกกต.กำชับ ผู้อำนวยการเลือกตั้งจังหวัดจัดการออกเสียงประชามติโปร่งใส ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

ประธานกกต.กำชับ ผู้อำนวยการเลือกตั้งจังหวัดจัดการออกเสียงประชามติโปร่งใส ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้กล่าวมอบนโยบายให้กับผู้อำนวยการกกต.จังหวัด ในการประชุมซักซ้อมแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ว่า ในวันที่ 7 ส.ค. กกต.จะจัดออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์สำคัญครั้งที่ 2 แต่ครั้งนี้มีความแตกต่าง เนื่องจากมีคำถามพ่วงจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย โดยประชามติเมื่อปี 2550 มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเพียง 57% แต่ว่าการจัดประชามติรอบนี้เหลือเวลาอีก 75 วัน ซึ่งเชื่อมั่นว่าการออกเสียงครั้งนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า การที่กกต.ตั้งเป้าไว้ 80% เพื่อเป็นเป็นเป้าหมายการทำงาน แต่จะได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ก็ขอให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่อย่างเต็มที่ไม่ต้องกังวล ทั้งนี้ การดำเนินการต้องยึดหลักกฎหมายและระเบียบต่างๆ ประการสำคัญต้องจัดการออกเสียงประชามติอย่างโปร่งใส สุจริตเที่ยงธรรม เนื่องจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กกต.ทำงานไม่เป็นกลาง เพราะฉะนั้นต้องพิสูจน์ให้ได้ อย่างไรก็ตาม กกต.จะใช้งบประมาณ 2.9 พันล้านบาท อย่างคุ้มค่าที่สุด

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม 65 พรรคการเมือง ส่วนใหญ่มีข้อกังวลว่า กกต.จังหวัด ไม่เป็นกลาง ก็อยากให้ระวัง ส่วนการรณรงค์ กกต.ต้องทำหน้าที่รณรงค์ไม่ใช่ชักจูงให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าผิดกฎหมายรุ่นแรง อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 พ.ค. จะเป็นวัน “คิกออฟ 7 สิงหา ประชาร่วมใจ ประชามติมั่นคง”  โดยจะมีรถเคลื่อนขบวนนำเอกสารไปส่งให้กับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สนช. อย่างละ 5 หมื่นชุด

ขณะที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ส่วนตัวอย่างให้ผอ.กกต.จังหวัดอธิบายกระบวนการ และขั้นตอน การออกเสียงประชามติ ให้ประชาชนเข้าใจมากที่สุด แต่อย่างไปล้ำเส้น กรธ. หรือไปอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ถูกมองว่าไม่เป็นกลางได้ และหากได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรก็ขอให้อธิบายเฉพาะขั้นตอนหรือกระบวนการการออกเสียงประชามติเท่านั้น

ขณะเดียวกันมองว่าโอกาสที่การทำประชามติครั้งนี้จะเกิดบัตรเสียมากกว่า 5% ซึ่งสูงกว่าการเลือกตั้งทั่วไปหรือการทำประชามติเมื่อปี 2550 เนื่องจากครั้งนี้ได้มีประเด็นคำถามพ่วงจากสนช. จึงทำให้ประชาชนต้องตอบคำถามสองคำถาม เพิ่มโอกาสทำให้บัตรเสียมีมากขึ้น จึงขอกำชับผอ.กต.จังหวัด ไปทำความเข้าใจว่าลักษณะใดที่เป็นบัตรดีบัตรเสียเพื่อที่จะอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้

จากนั้นนายสมชัย ได้ชี้แจงข้อสงสัยของผู้ตรวจการกกต. ถึงการพิจารณาคำร้องโดยเฉพาะมาตรา 61 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่เป็นความผิดทางอาญาว่าจะอยู่ในอำนาจของกกต.หรือไม่ ซึ่งได้มีการยกตัวอย่างกรณีที่มีผู้ยื่นคำร้องว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทำการบิดเบือนข้อเท็จจริงรัฐธรรมนูญ ว่าที่ประชุมได้มีการหารือประเด็นดังกล่าว

โดยสรุปได้เป็น 4 แนวทาง 1.ให้พนักงานกกต.แนะประชาชนไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2.ให้กกต.หาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นแล้วแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะกกต. 3.หากมีเรื่องร้องเรียนมายังกกต.จังหวัด โดยกกต.จังหวัดสามารถส่งให้ส่วนกลางพิจารณาได้ และ 4.รวมรวมหลักฐานและมอบให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปดำเนินการเอง อย่างไรก็ตาม กกต.สามารถหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้นเองได้ภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจกกต.

“สิ่งสำคัญถ้าเกิดการกระทำความผิดที่จังหวัดใด กกต.จังหวัดนั้นต้องรู้ ถ้าส่วนกลางถามไปต้องตอบได้ ที่สำคัญต้องดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ต้องได้คำตอบได้ภายใน 7 วัน นับแต่ที่มีการยื่นคำร้อง สิ่งที่เกิดขึ้น 2-3 วันมานี้ เป็นแค่หัวพายุ แค่ฝนโปรย จากนี้เฮอริเคนที่เกี่ยวกับคำร้องจะตามมา”นายสมชัย กล่าว     

ด้านนายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์  กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า การทำประชามติรอบนี้ต่างจากการเลือกตั้ง จึงถือเป็นภารกิจสำคัญของกกต. เพราะการเลือกตั้งพรรคการเมืองสามารถรณรงค์ได้ แต่การออกเสียงประชามติต้องเกิดจากการเข้าใจของประชาชนผู้มีสิทธิต้องการออกมาใช้สิทธิและมีส่วนร่วมกับบ้านเมือง จึงเป็นภารกิจของกกต.ทำอย่างไรให้ประชาชนเข้าใจ

“เรารับงบประมาณมาแล้ว แต่ถ้าไม่สามารถทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการออกเสียงประชามติได้มากเท่าที่ควรก็เท่ากับล้มเหลว แต่ขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตัว และก็เชื่อว่าจะบรรลุถึงเป้าหมายแน่นอน” นายธีรวัฒน์ กล่าว

ส่วนนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า การทำประชามติเมื่อ ปี 50 กับครั้งนี้ มีส่วนที่เหมือนกัน 4 เรื่อง 1.การทำประชามติ 2.กกต.ไม่มีหน้าที่เผยแพร่ เพราะปี 2550 ให้ สสร.เป็นคนทำหน้าที่ เหมือนกับ กรธ. ตอนนี้ 3.กกต.ทำหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ 4.โทษความผิดมีการเพิ่มเติมขึ้นมาเล็กน้อย ทั้งนี้ การรณรงค์เผยแพร่ยาวนานกว่าเมื่อปี 2550 จึงขอให้ทุกฝ่ายใจเย็น ทำความเข้าใจให้เกิดความถ่องแท้ และทำอย่างไรให้อยู่ภายใต้งบและบุคลากรที่มีให้เกิดผลสัมฤทธิ์