posttoday

ยื่นตีความม.61 ประชามติขัดรธน.

11 พฤษภาคม 2559

นักวิชาการ 100 คน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินชงศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 ปิดกั้นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย

นักวิชาการ 100 คน ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินชงศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 61 ปิดกั้นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มนักวิชาการนำโดย นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต สว. เป็นตัวแทนนักวิชาการกว่า 100 คน ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบและเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 61 ขัดต่อรัฐธรรมนูญต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 4 ที่ให้สิทธิประชาชนไว้หรือไม่

นายจอน กล่าวว่า มาตรา 61 กำหนดว่าผู้ใดเผยแพร่ข้อความ ภาพ และเสียง ในสื่อช่องทางต่างๆ ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ถือว่าผู้นั้นก่อความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ มีบทลงโทษรุนแรงจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท และศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วย ซึ่งเทียบเท่ากับบทลงโทษฐานความผิดฆ่าคนตายโดยประมาท จึงเห็นว่าการกำหนดในมาตรา 61 นั้น เป็นการปิดกั้นการแสดงออกในระบอบประชาธิปไตย

“การยื่นเรื่องครั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาจะล้มการทำประชามติ ตรงกันข้ามคือต้องการให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่แต่มาตรา 61 ของกฎหมายดังกล่าวทำให้ประชาชนเกร็งในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งขัดหลักการความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ จึงอยากให้มีการส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเร็ว” นายจอน กล่าว

ด้าน นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า มีความกังวลว่ากฎหมายดังกล่าวจะขยายความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยขึ้นมาอีก ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ทั้งนี้การที่จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นไม่เกี่ยวกับตัวรัฐบาล หรือ คสช. แต่เป็นเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ หากไม่รับก็ไม่ใช่การต่อต้านรัฐบาล แต่เป็นประโยชน์ของรัฐบาลและ คสช.มากกว่ารัฐธรรมนูญยังมีเนื้อหาที่จะต้องปรับแก้ อย่าไปติดกับดักคู่ตรงข้ามว่า หากรับแล้วเป็นพวกรัฐบาล หากไม่รับเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล

ขณะที่ นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า ควรเปิดกว้างให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ในร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะหากสร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ไม่มีการแสดงความคิดเห็น ไม่มีการรณรงค์ ประชาชนก็จะไม่เข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยเข้าใจภาษากฎหมาย

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวหลังรับหนังสือว่าจะนำคำร้องนี้เสนอต่อที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินโดยเร็ว

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การอบรมครู ก. เพื่อไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ต้องอธิบายวิธีกาบัตรออกเสียงประชามติด้วย เพราะมีคนปล่อยข่าวว่า 2 ใบผูกกันหากทำอันหนึ่งแล้วไม่ทำอันหนึ่งบัตรจะเสีย ตรงนี้คงจะต้องไปอธิบายเป็นพื้นฐานเบื้องต้นให้ครู ก.ด้วย ซึ่งครู ก. ส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ มีความชำนาญผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง คงไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขึ้นตอนจากครู ก. ไปครู ข. ไปครู ค. จะต้องอธิบายกันยาว