posttoday

เปิดหลักเกณฑ์ลงประชามติ6ข้อทำได้-8ข้อทำไม่ได้

06 พฤษภาคม 2559

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยเปิดหลักเกณฑ์ "6 ข้อ ทำได้" และ "8 ข้อ ทำไม่ได้" ในการออกเสียงลงประชามติร่างรธน.

กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยเปิดหลักเกณฑ์ "6 ข้อ ทำได้" และ "8 ข้อ ทำไม่ได้" ในการออกเสียงลงประชามติร่างรธน. 

เฟซบุ๊ก กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ได้เผยแพร่หลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ ตามประกาศ กกต. โดยมีรายละเอียดดังนี้

"6 ข้อ ทำได้" และ "8 ข้อ ทำไม่ได้"

หลักเกณฑ์และวิธีการในการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ ตามประกาศ กกต. กำหนดไว้ ดังนี้
 
6 ข้อ ทําได้
1. ศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญและประเด็นเพิ่มเติมให้เข้าใจอย่างครบถ้วน จากเว็บไซต์หรือสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการแสดงความคิดเห็นของตน
2. แสดงความเห็นโดยใช้ถ้อยคำที่สุภาพ
3. แสดงความเห็นด้วยข้อมูลที่มีความชัดเจน ไม่กำกวม อันอาจทำให้บุคคลอื่นเห็นว่าเป็นการบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง
4. การนำเสนอหรืออ้างอิงงานวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็นให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียงบุคคลอื่นนั้น ควรตรวจสอบความถูกต้องและแสดงที่มาของงานวิจัยนั้นด้วย
5. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อเพื่อแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน
6. การนำเข้าข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นพร้อมแสดงเหตุผลอย่างใดอย่างหนึ่งของตน ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือการส่งต่อข้อมูลดังกล่าว โดยไม่มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติม

8 ข้อ ทําไม่ได้
1. การสัมภาษณ์ผ่านสื่อด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าวรุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
2. การนำเข้าข้อมูล (โพสต์) อันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ ในเว็บไซต์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งต่อข้อมูล (แชร์) ในลักษณะดังกล่าว
3. การทำหรือส่งสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายอันมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่
4. การจัดเวทีสัมมนา อภิปราย โดยกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรสื่อมวลชน ตามกฎหมาย เข้าร่วม และมีเจตนาเพื่อปลุกระดมทางการเมือง
5. การชักชวนให้ใส่เสื้อ หรือติดป้าย เข็มกลัด ธง ริบบิ้น หรือเครื่องหมายที่แสดงสัญลักษณ์ความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการขาย การแจกจ่ายสิ่งของดังกล่าว ในลักษณะรณรงค์ทั่วไป เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง
6. การใช้เอกสาร ใบปลิว หรือแผ่นพับ ที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย หรือปลุกระดมทางการเมือง
7. การรายงานข่าวหรือการจัดรายการของสื่อมวลชนที่นำไปสู่การปลุกระดมหรือสร้างความวุ่นวายในสังคม
8. การรณรงค์เพื่อให้เกิดการคล้อยตามของคนในสังคม เพื่อให้ออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีลักษณะการปลุกระดมหรือขัดขวางการออกเสียง

ร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ร่วมใจไปลงประชามติ
พบกันวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม 2559