posttoday

สนช.แบ่งกลุ่ม9จังหวัดลงพื้นที่แจงคำถามพ่วง

29 เมษายน 2559

รองประธาน สนช.แจงแบ่งกลุ่ม 9 จังหวัดลงพื้นที่แจงคำถามพ่วง ย้ำ สว.ร่วมเลือกนายกฯเพื่อให้นำปฎิรูป

รองประธาน สนช.แจงแบ่งกลุ่ม 9 จังหวัดลงพื้นที่แจงคำถามพ่วง ย้ำ สว.ร่วมเลือกนายกฯเพื่อให้นำปฎิรูป


วันที่ 29 เม.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 เป็นประธานฯ ได้ประชุมเพื่อชี้แจงแนวทางวิธีการดำเนินงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์คำถามเพิ่มเติมของสนช. สืบเนื่องจากมติสนช. เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่เห็นควรให้เสนอประเด็นคำถามเพิ่มเติมเพื่อประกอบการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 

โดย นายสุรชัย ชี้แจงว่า ตามที่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559กำหนดให้สนช.ทำหน้าที่ชี้แจงคำถามพ่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)และสนช.จะใช้วิธีการเผยแพร่ผ่านเวทีต่างๆที่ทางกรธ.ได้กำหนดไว้ร่วมกัน แต่จะจัดสรรเวลาแยกกันซึ่งจะต้องประสานกรธ.ต่อไป และจะนำข้อมูลที่ได้จากการหารือกับกรธ.ไปพิจารณาในกมธ.ฯอีกครั้ง และเนื่องจากกรธ.ได้กำหนดกลุ่มพื้นที่จังหวัดต่างๆในการลงพื้นที่ 9 กลุ่มจังหวัด ตนจึงทำหนังสือถึงสมาชิกเพื่อรับทราบความประสงค์ว่าสมาชิกคนใดจะร่วมภารกิจดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดใดบ้าง ประกอบด้วย กลุ่ม 1จ.ลพบุรี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง นนทบุรี และสระบุรี กลุ่ม 2 ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง ตราด จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระบุรี นครนายก และสมุทรปราการ กลุ่ม 3 ประกอบด้วย จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี

กลุ่ม 4 ประกอบด้วย จ.อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ เลย นครพนม มุกดาหาร และขอนแก่น กลุ่ม 5 ประกอบด้วย จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ชัยภูมิ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ยโสธร ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด และมหาสารคาม กลุ่ม 6 ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช กลุ่ม 7 ประกอบด้วย จ.สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และตรัง กลุ่ม 8 ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และกลุ่ม 9 ประกอบด้วย จ.พิษณุโลก ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี

นายสุรชัย กล่าวว่า กระบวนการจากนี้ ในสัปดาห์หน้าผู้ประสานงานแต่ละกลุ่มจะนัดหมายสมาชิกเพื่อประชุมในกลุ่มของตัวเอง จากนั้น วันที่ 21 พ.ค. กมธ.ฯจะกำหนดรายละเอียดวันเวลาที่แต่ละกลุ่มจะลงพื้นที่ รวมถึงรูปแบบ แนวทาง วิธีการเผยแพร่ ให้ประชาชนรับทราบคำถามเพิ่มเติม ส่วนเหตุผลที่ต้องมีคำถามเพิ่มเติม เพราะนายกรัฐมนตรี คือหัวหน้าที่ทำให้การปฏิรูประเทศประสบผลสำเร็จ ตามยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี จึงวางรากฐานการปฏิรูปได้อย่างเป็นรูปธรรม และรัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว.กำกับให้มีการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ จึงกำหนดให้ ส.ส. ส.ว. ทำหน้าที่เลือกนายก ทั้งนี้ การลงพื้นที่อธิบายชี้แจงคำถามพ่วงของสนช.จะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. – 7 ส.ค. ส่วนการใช้งบเบิกจ่ายสมาชิกสามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบราชการ และนอกจากภารกิจลงพื้นที่กับกรธ.ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเวทีกรธ.แล้ว ยังมีเวทีผ่านโครงการต่างๆของสนช.อยู่แล้วด้วย เพื่อไม่รบกวนงบแผ่นดินเพิ่มเติม เช่น โครงการสนช.พบประชาชน โดยจะจัดสรรเวลาให้สมาชิกได้อธิบายประเด็นคำถามเพิ่มเติม รวมถึงโครงการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย และการเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อวิทยุโทรทัศน์ของรัฐสภา