posttoday

"ธีรยุทธ" แนะคสช.ไม่ควรขอเวลา5ปีอยู่ดูสถานการณ์

05 เมษายน 2559

"ธีรยุทธ" ชี้ คสช. ไม่ควรขอเวลา5ปีเพื่ออยู่ดูสถานการณ์ แต่ให้รีบทำงานในขณะที่มีอำนาจเต็ม

"ธีรยุทธ" ชี้ คสช. ไม่ควรขอเวลา5ปีเพื่ออยู่ดูสถานการณ์ แต่ให้รีบทำงานในขณะที่มีอำนาจเต็ม

นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอเวลา 5 ปี เพื่ออยู่ดูแลสถานการณ์ โดยผ่านกลไกของสว. ซึ่งไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นเรื่องการปฏิรูป ซึ่งส่วนตัวมองว่าการปฏิรูป ไม่ใช่ภารกิจของกองทัพ และหากจะวิเคราะห์ คือ รัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐบาลพลเรือน มีข้ออ่อนแอในเรื่องของการปฏิรูป เพราะจะขัดกับราชการ และพรรคการเมืองอื่น ซึ่งอาจทำให้ เจตนารมณ์ ของการปฏิรูปไม่แข็งแรง

"หากมองว่า ทหารจะโยนภาระให้รัฐบาลสมัยหน้า ทำไมตอนนี้ที่รัฐบาลมีอำนาจมาก ซึ่งถือเป็นอำนาจเชิงเดี่ยว ไม่มีการถ่วงดุล หลายอย่างสามารถทำได้ ทั้งเรื่องการศึกษา การบังคับใช้กฎหมายของตำรวจ แต่ทำไมถึงไม่ทำ ดังนั้น จะขอเวลาไปดูแลอีก 5 ปี จะขอไปทำไม ในเมื่อมีอำนาจเต็มที่แต่ไม่จัดการ ซึ่งประเด็นดังกล่าว มองว่า เป็นการให้เหตุผลที่ขัดแย้ง ไม่สร้างความเชื่อมั่น และเกรงว่า จะนำไปสู่ปัญหาในที่สุด"นายธียุทธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ให้ ส.ว. มาจากการแต่งตั้ง จากคสช. 200 คน และบวกอีก 50 คน อีกทั้ง ยังอาจเสนอให้สว. มีอำนาจเลือกนายกฯอีก เท่ากับเป็นการเสียสละหลักการประชาธิปไตย ซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผล

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ มุ่งแก้ปัญหาที่สำคัญ ที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป รวมถึงในช่วง 2 ปีของ คสช. ที่เน้นแต่เรื่องของการจัดระเบียบ แต่กลับไม่ได้ส่งเสริมให้อำนาจของประชาชน เข้ามามีบทบบาทในการจัดการปัญหา จัดระเรียบการตรวจสอบคอร์รัปชั่น ส่วนตัวหวังว่า ในรอบหนึ่งปีเศษของรัฐบาลนี้ น่าจะทำส่วนที่ยังไม่ได้ทำให้มากขึ้น เช่น การส่งเสริมให้อำนาจของประชาชน เพิ่มอำนาจการปกครองท้องถิ่น ให้มุ่งรับใช้ประชาชน และสร้างประโยชน์ให้กับสาธารณะ โดยประเด็นดังกล่าวควรส่งเสริมให้เป็นนโยบายที่รัฐบาลชุดใดๆ ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงได้ยาก

ส่วนเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่นั้น ส่วนตัวไม่ขอวิจารณ์ แต่เท่าที่วิเคราะห์ พบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. มีคะแนนนิยม ซึ่งมองได้ว่า บุคคล ยังคงมีความกลัว เบื่อ วิตก ระแวง กับการที่จะเกิดการชุมนุม จึงทำให้กองทัพอาจยังคงอยู่ได้ และเป็นที่น่าแปลกใจ ในส่วนที่เป็นนโยบายที่ทางกองทัพคิด ไม่พบเสียงคัดค้าน ทั้งที่การแก้ปัญหาบางอย่าง เป็นการใช้ความรู้สึก ซึ่งกังวลว่า อาจเป็นปัญหาได้ในระยะยาว และส่วนตัวตอบไม่ได้ว่า รัฐบาลทหารจะอยู่ได้ต่อหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ภายใต้กลไก สว.สรรหา หรือ นายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะ หลักการประชาธิปไตย ของคนไทย มีความปรับเปลี่ยน แต่หากวิเคราะห์ จากเหตุการณ์ทั่วไป เมื่อรัฐบาลมีการทุจริตขนาดใหญ่ กระแสก็อาจตีกลับได้ ซึ่งมองว่าสิ่งที่จะทำให้รัฐบาลทหารอยู่ได้ เพราะความกังวลของคนว่า ความวุ่นวายทางการเมืองจะเกิดขึ้นอีก