posttoday

วัฒนา ย้ำวิจารณ์การเมือง ปัดท้าทาย คสช.-กลัวคนลืม

01 เมษายน 2559

"วัฒนา" เดินหน้าวิจารณ์การเมือง ยืนยัน ไม่ได้เป็นการท้าทาย คสช. หรือกลัวคนลืม

"วัฒนา" เดินหน้าวิจารณ์การเมือง ยืนยัน ไม่ได้เป็นการท้าทาย คสช.  หรือกลัวคนลืม

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ชี้แจงผ่านสื่อมวลชน หัวข้อ "หลักสูตรปรับทัศนคติ" ว่า  ผมไม่ได้ต้องการตอบโต้หรือขยายความขัดแย้ง กับกรณีหลายท่านใน คสช. มีความเห็นเมื่อคราวผมถูกควบคุมตัวครั้งล่าสุดอันเนื่องจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ผมจึงขอใช้สิทธิถูกพาดพิงตอบรวมว่า เมื่อก่อนสมัยที่ผมเป็นรัฐบาลนั้นได้ทำให้ประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเกินร้อยละ 5 ต่อปี การส่งออกในสมัยผมเป็น รมว. พาณิชย์ ขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 10 ต่อปี และยังสามารถใช้หนี้ IMF หมดก่อนกำหนด อีกท่านที่เห็นว่าการที่ทหารมาบุกบ้านผมและการนำตัวผมไปควบคุมไม่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น ผมไม่มีความเห็นคงต้องปล่อยให้ท่านคิดของท่านไป ส่วนท่านสุดท้ายที่พูดทำนองว่าที่ผมเคลื่อนไหวเพราะคงกลัวประชาชนลืม ขอเรียนว่าผมเป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ไม่ใช่เพิ่งจะเป็นหรือมีคนรู้จักในปีนี้ครับ

คสช. ยึดอำนาจการปกครองและตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศ เพื่อให้เกิดความสงบ ประชาชนในชาติเกิดความรักสามัคคี และเพื่อการปฏิรูปเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและอื่นๆ ให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย ซึ่งการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว คสช. จะต้องวางตัวให้เป็นกลาง ไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง พร้อมที่จะยอมรับการตรวจสอบและรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอันเป็นหัวใจของการปฏิรูป แต่การที่บุคคลสำคัญของ คสช. แสดงความเห็นจะจัดหลักสูตรเพื่อนำตัวผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปอบรม 3-7 วัน หรืออาจนานกว่านั้นจนกว่าจะพูดรู้เรื่อง โดยอ้างเพียงว่าขณะนี้ คสช. บริหารประเทศยังไม่สมควรเคลื่อนไหว หรืออีกไม่นานก็จะเลือกตั้งแล้ว นั้น ถือเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเพราะ คสช. ทำหน้าที่บริหารประเทศจึงต้องให้ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจได้ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในระหว่างการทำประชามติ ก็ต้องให้ทุกฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ไม่ว่าการสนับสนุนหรือคัดค้านก็ตาม

ผมยังยืนยันที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อไปโดยสุจริต ไม่ได้ต้องการท้าทายหรือกลัวคนลืมหรืออยากเข้าคอร์สอบรมที่ท่านจะตั้งขึ้น เพียงแต่อยากย้ำให้ คสช. ทราบว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูปประเทศอันเป็นวัตถุประสงค์หลักของ คสช. นั้น กรธ. ได้นำไปบรรจุไว้ในมาตรา 258 ก. ด้านการเมือง (1) ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า "ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน" ผมจึงไม่ทราบว่า กรธ. ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ คสช. แล้วหรือยัง